การขอปรับยอดวัตถุดิบกรณีบริษัททำไม่ถูกต้องตามกฎของกรมศุลกากร
Q: เนื่องจากบริษัทถูกดำเนินการตรวจสอบจากกรมศุลกากร ผลปรากฏว่า
1. บริษัทนำสินค้าออกจากเขตปลอดภาษีอากรเพื่อจำหน่าย โดยสำแดงราคาต่ำกว่าที่เป็นจริง เป็นเหตุให้ชำระภาษีอากรไว้ขาด
2. บริษัทนำสินค้ากลับเข้ามาในราชอาณาจักร โดยใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้า เพื่อนำสินค้ากลับเข้ามาซ่อมแซม แต่บริษัทมิได้ทำการซ่อมแซมและมิได้ส่งกลับไปนอกราชอาณาจักร
ซึ่งทั้งสองกรณีเป็นเหตุให้บริษัทต้องคดี โดยเสียภาษีพร้อมทั้งค่าปรับจำนวนหนึ่ง ซึ่งบริษัทได้ชำระภาษีกับทางกรมศุลกากรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ข้อมูลของงานสินค้าที่นำกลับเข้ามาในราชอาณาจักร( Reject )ที่ทำการเสียภาษีนั้น ยังปรากฏอยู่ในระบบฐานข้อมูลอยู่เท่าเดิม
ดังนั้น กรณีที่จะปรับยอดสินค้าดังกล่าวให้เป็น 0 (เนื่องจากเสียภาษีแล้ว) จะต้องยื่นเรื่องขอปรับยอดต่อ BOI ในกรณีใด และการขอคัดสำเนาใบขนสินค้า ต้องทำเอกสารอะไร ต้องยื่นเรื่องกับหน่วยงานใด และมีค่าใช้จ่ายอย่างไร
A: 1. การนำสินค้าเข้ามาจากเขตปลอดอากรเพื่อจำหน่ายในประเทศ โดยสำแดงราคาต่ำ เป็นความผิดทางศุลกากร ซึ่งกรณีนี้เข้าใจว่าไม่ได้ใช้สิทธินำเข้าจาก BOI จึงไม่เกี่ยวข้องกับในส่วน BOI
2. การนำสินค้าที่บริษัทส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ กลับมาเข้าซ่อมแซม เพื่อส่งกลับออกไปอีกครั้งหนึ่ง สามารถใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้าตาม ม.36(1) ได้ แต่ต้องเป็นสินค้าที่สามารถซ่อมได้
กรณีที่ซ่อมไม่ได้ และไม่สามารถส่งกลับออกไปต่างประเทศได้ บริษัทจะต้องยื่นขอชำระภาษีอากร หรือจะต้องขออนุมัติทำลายและชำระภาษีเศษซากหลังทำลาย ฯลฯ ตามหลักเกณฑ์ที่ BOI กำหนด
กรณีที่สอบถาม บริษัทนำสินค้ากลับเข้ามาซ่อมแซมโดยใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากร แต่ไม่ได้ส่งออก และไม่ได้ขอชำระภาษีหรือขอทำลาย แต่นำไปจำหน่ายในประเทศ จึงมีความผิดตามกฎหมายศุลกากร
ตอบคำถามดังนี้
1. บริษัทใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากรสินค้าที่นำกลับเข้ามาซ่อม แต่ต่อมากระทำผิด และได้ชำระภาษีอากรและค่าปรับต่อกรมศุลกากรไปแล้ว ดังนั้น ยอด balance ที่ใช้สิทธินำเข้ากับ BOI จึงสามารถปรับยอดให้เป็น 0 ได้ แต่กรณีนี้ไม่มีแบบฟอร์มในการยื่น จึงให้บริษัทร่างหนังสือขึ้นมาเอง โดยมีสาระสำคัญคือ
1) เรื่อง การขอปรับยอดวัตถุดิบ (กรณีนี้คือสินค้าที่นำกลับเข้ามาซ่อม แต่ใช้คำว่าวัตถุดิบนี้ได้)
2) ชี้แจงเหตุผลว่า ได้มีการใช้สิทธินำเข้าสินค้ากลับเข้ามาซ่อมแซมคือ ... จำนวน ... ตามหนังสือสั่งปล่อยที่ นร.. วันที่ .. แต่ต่อมาได้มีการชำระภาษีอากรและเบี้ยปรับ ตามใบขนที่ .. ใบเสร็จรับเงินที่ ... จึงขอปรับยอด ... จำนวน ... และทำตารางสรุปรายการที่จะขอปรับยอดแนบไปด้วย
3) แนบสำเนาหนังสือสั่งปล่อย / อินวอยซ์และใบขนขาเข้า / ใบเสร็จชำระภาษี / ใบขนชำระภาษี ตอนที่ยื่น ควรชี้แจงกับ จนท ก่อน โดย จนท อาจให้แก้ไขเอกสารหรือเตรียมเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม เมื่อ BOI อนุมัติให้ปรับยอดแล้ว จึงนำหนังสืออนุมัติและไฟล์ ADJUST ไปยื่นปรับยอดที่ IC ต่อไป
2. การขอคัดสำเนาใบขนสินค้า เท่าที่ทราบคือ ต้องไปเขียนคำร้องและยื่นเรื่องที่ด่านศุลกากรที่นำเข้าหรือส่งออกสินค้าตามใบขนนั้นๆ คำถามนี้ไม่เกี่ยวกับ BOI น่าจะสอบถามกับชิปปิ้งหรือกรมศุลกากรโดยตรง
.......................