ขั้นตอนการรวมบัญชีปริมาณสต็อกวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นโดยใช้ปริมาณสต็อกสูงสุด (Max Stock) ร่วมกันของทุกโครงการ

July 08,2022

ขั้นตอนการรวมบัญชีปริมาณสต็อกวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นโดยใช้ปริมาณสต็อกสูงสุด (Max Stock) ร่วมกันของทุกโครงการ

บทความนี้ขอนำเสนออีกเรื่องสำคัญที่มีผู้ใช้บริการได้ดำเนินการขออนุมัติและเริ่มปฏิบัติกันมาแล้ว และคาดว่าในอนาคตจะมีผู้ใช้บริการอีกจำนวนไม่น้อยที่อาจจะขอใช้บริการในประเภทงานนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกประเภทงานหนึ่งที่ผู้ใช้บริการควรได้รับความรู้และเข้าใจ นั่นก็คือเรื่อง การรวมบัญชีปริมาณสต็อกวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น เรามาดูกันว่าในขั้นตอนการขออนุมัติรวมบัญชีปริมาณสต็อกวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นของผู้ประกอบการนั้น จะต้องทำอย่างไรบ้าง และมีขั้นตอนการปฏิบัติงานที่สมาคมสโมสรนักลงทุนอย่างไร
ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจกันก่อนว่า การรวมบัญชีปริมาณสต็อกวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นนั้นหมายถึง การที่บริษัทยื่นขออนุมัติกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อทำการรวมบัญชีรายการวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ตั้งแต่ 2 โครงการ (บัตรส่งเสริม) ขึ้นไป แต่อยู่ภายใต้เลขที่นิติบุคคลเดียวกัน

วัตถุประสงค์การรวมบัญชีปริมาณสต็อกวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น เพื่อให้สามารถบริหารจัดการและควบคุมบัญชีปริมาณสต็อกวัตถุดิบ ได้ง่ายขึ้น โดยใช้ปริมาณสต็อกสูงสุด (Max Stock) ร่วมกันของทุกโครงการ แต่บัตรส่งเสริมเดิมที่นำมารวมสต็อกนั้นยังใช้สิทธิได้ปกติภายใต้รหัสโครงการใหม่ (การรวมบัญชีปริมาณสต็อกวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น สำนักงานบีโอไอไม่ได้ออกบัตรส่งเสริมฉบับใหม่)

ขั้นตอนการดำเนินงานของผู้ประกอบการ
1. ขออนุมัติรวมบัญชีปริมาณสต็อกวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น แบบ Manual กับสำนักงาน เมื่อสำนักงานบีโอไออนุมัติ จะมีหนังสือแจ้งผลให้บริษัททราบ เรื่อง การรวมบัญชีปริมาณสต็อกวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น พร้อมระบุในบัตรส่งเสริมการลงทุนที่นำมาขออนุมัติรวมบัญชีปริมาณสต็อกวัตถุดิบ โดยกำหนดระยะเวลานำเข้าและสิ้นสุดของบัญชีใหม่หรือรหัสโครงการใหม่ที่เกิดจากการรวมบัญชี
2. ขออนุมัติสูตรการผลิต (กรณีต้องการขออนุมัติสูตรการผลิตใหม่สามารถยื่นผ่านระบบฐานข้อมูลออนไลน์ได้)

ขั้นตอนการดำเนินงานที่สมาคมสโมสรนักลงทุน
1. ขอรหัสโครงการและบันทึกรหัสโครงการใหม่ โดยพนักงานบริการฐานข้อมูลวัตถุดิบ จะเป็นผู้กำหนดและแจ้งรหัสโครงการของโครงการรวมบัญชีปริมาณสต็อกวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น (Max Stock) ให้กับบริษัท ตามหลักการคือ (ตัวอักษร+ปี พ.ศ+ลำดับที่+มาตรา+3) เช่น M6400913 พนักงานจะออกเอกสารแจ้งรหัสโครงการให้กับบริษัท โดยอักษรตัวแรกจะถูกกำหนดตามสำนักงานสาขาที่บริษัทใช้บริการ ได้แก่ กทม. คือ อักษร M, ชลบุรี คือ L, เชียงใหม่ คือ MC, นครราชสีมา คือ MN, ขอนแก่น คือ MK, สงขลา คือ MZ และ สุราษฎร์ธานี คือ MS
2. ขอบันทึกบัญชีรายการวัตถุดิบและสูตรการผลิต (กรณีบริษัทต้องการใช้สูตรเดิม ให้ทำเรื่องขอโอนสูตรการผลิต โดยยื่นเรื่องมาที่สมาคม เพื่อสมาคมจะได้นำเสนอสำนักงานบีโอไอพิจารณาต่อไป)
3. ขอกำหนดวันนำเข้าครั้งแรก ตามแบบฟอร์มที่สมาคมกำหนด

เอกสารประกอบการยื่นเรื่องกับสมาคมสโมสรนักลงทุน
พนักงานสมาคมจะทำการค้นหาชื่อบริษัทในระบบ RMTS R2 และบันทึกรหัสโครงการตามเอกสารหลักฐาน
ที่บริษัทนำมายื่น ประกอบด้วย
1. หนังสือบริษัทเรื่อง ขอยื่นบัญชีปริมาณสต็อกวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น (สำหรับสูตรการผลิต กรณีที่ได้รับอนุมัติแบบ Manual บริษัทสามารถยื่นพร้อมกันได้ หรือขอโอนสูตรการผลิตภายหลังได้)
2. หนังสือเรื่อง การรวมบัญชีปริมาณสต็อกวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานบีโอไอ
3. ใบลงทะเบียนใช้บริการด้วยระบบ IC Online
4. หนังสือข้อตกลงการใช้งานวัตถุดิบ
5. หนังสือแจ้งรหัสโครงการ
6. ตารางสรุปยอดปริมาณวัตถุดิบคงเหลือ Max Stock ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์สมาคม (Link : https://ic.or.th/images/excel/dbfs6.xls)
7. สำเนาบัตรส่งเสริมบัตรแรกของแต่ละโครงการ เพื่อนำไปกรอกข้อมูลในระบบ RMTS R2

ขั้นตอนการบันทึกรายการวัตถุดิบและสูตรการผลิต
1. บริษัทคีย์ไฟล์ข้อมูลบัญชีรายการวัตถุดิบชื่อหลัก MML และชื่อรอง DESC เพื่อยื่นในส่วนงานบริการฐานข้อมูลผู้ประกอบการ หากพบว่ามีปริมาณวัตถุดิบคงเหลือจากรหัสโครงการเดิมที่จะนำมารวมสต็อก จะต้องนำยอดคงเหลือของวัตถุดิบรายการเดียวกัน ของทุกโครงการมารวมกัน แล้วยกยอดมาเป็นค่าเริ่มต้นในรหัสโครงการใหม่ โดยการคีย์ยอดคงเหลือดังกล่าวนั้นในช่อง Start_Qty ในไฟล์ MML ซึ่งข้อมูลที่คีย์มานั้นจะต้องตรงตามที่สรุปในเอกสารแนบ ทั้งนี้จะต้องได้รับอนุมัติจากสำนักงานบีโอไอ
2. กรณีบริษัทได้รับอนุมัติสูตรการผลิตที่เป็นแบบหนังสืออนุมัติ สามารถยื่นพร้อมกันได้ แต่หากบริษัทต้องการ
ขอโอนสูตรการผลิตภายหลังสามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกัน แต่จะขอโอนสูตรได้เพียง 1 Revision เท่านั้น
3. กรอกแบบฟอร์มเพื่อขอกำหนดวันนำเข้าครั้งแรก โดยกำหนดให้ตรงตามที่ระบุในหนังสืออนุมัติให้รวมบัญชีปริมาณสต็อกวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ที่ สำนักงานบีโอไอออกให้ โดยวันที่เริ่มต้นเป็นวันที่เริ่มหลัง และวันที่สิ้นสุดเป็นวันที่สิ้นสุดก่อน

ตัวอย่าง

สำนักงานบีโอไอ จะกำหนดวันนำเข้าครั้งแรกในหนังสืออนุมัติให้กับบริษัท ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุด ตามตัวอย่างคือ วันที่ 21 ธันวาคม 2563 – 29 สิงหาคม 2564 และหลังจากนั้น บริษัทจะต้องทำการขยายระยะเวลานำเข้าวัตถุดิบของทุกบัตรส่งเสริมให้มีวันที่สิ้นสุดสิทธิ์เป็นวันเดียวกัน
เมื่อทำการตั้งบัญชีปริมาณสต็อกวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นของรหัสโครงการใหม่ให้กับบริษัทแล้ว สมาคมจะทำการเคลียร์ข้อมูลบัญชีปริมาณสต็อกวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ของรหัสโครงการเดิม โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. ทำการตรวจสอบตัวเลขปริมาณวัตถุดิบคงเหลือจากรหัสโครงการเดิม ว่าได้ถูกยกยอดไปเป็นค่าเริ่มต้น หรือ Start_Qty ของรหัสโครงการใหม่ถูกต้องหรือไม่ โดยตรวจสอบจาก MML ของรหัสโครงการเดิม และ MML ของรหัสโครงการใหม่
2. ทำการเคลียร์ปริมาณวัตถุดิบคงเหลือของรหัสโครงการเดิมโดยการปรับยอด (ADJ) เพื่อให้ปริมาณวัตถุดิบคงเหลือของรหัสโครงการเดิมเป็นศูนย์
3. ทำการปรับปริมาณสต็อกสูงสุด (Max Stock) ของรหัสโครงการเดิมให้เป็นศูนย์
4. ทำการระงับสิทธิ์ของรหัสโครงการเดิมโดยการระบุสถานะโครงการเป็น Inactive พร้อมระบุเหตุผลเพื่อใช้ในการตรวจสอบประวัติ

ข้อควรระวัง
ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของบริษัทเอง หรือในส่วนของสมาคม จะต้องมีการตรวจสอบว่า บริษัทยังมีธุรกรรมเกี่ยวกับงานสั่งปล่อยวัตถุดิบ และงานตัดบัญชีวัตถุดิบ ที่ยังติดปัญหาของรหัสโครงการเดิมหรือไม่ หากมีงานติดปัญหา บริษัทจะต้องทำการแก้ไขให้เรียบร้อย เนื่องจากเมื่อสมาคมได้ทำการรวมบัญชีปริมาณสต็อกวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น (Max Stock) แล้วจะไม่สามารถทำการแก้ไขหรือยกเลิกงานต่างๆ ภายใต้รหัสโครงการเดิมได้

ทั้งนี้หากบริษัทผู้ใช้บริการมีข้อสงสัย หรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามมายังสมาคมที่ E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.  หรือโทรศัพท์ 0 2666 9449 กด 1
..................................

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง