ขั้นตอนการโอนและรับโอนกิจการ

May 24,2022

ขั้นตอนการโอนและรับโอนกิจการ

งานที่สำคัญอีกงานหนึ่งของระบบ RMTS ได้แก่ การโอน และรับโอนกิจการ โดยจะขอเสนอขั้นตอนหลังจากที่บริษัทได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ว่ามีขั้นตอนการปฏิบัติงานในแต่ละส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างไร
การโอนและรับโอนกิจการ นั่นคือ การที่บริษัททำการซื้อ-ขายกิจการกัน บริษัทจะต้องทำการแจ้งต่อ สกท.
โดยหลักการเบื้องต้น สกท. จะให้บริษัทผู้ขาย (ผู้โอน) ทำเรื่องโอนวัตถุดิบให้กับผู้รับโอน กรณีมีปริมาณวัตถุดิบคงเหลือ โดยผู้โอนกับผู้รับโอนจะตกลงกันว่าใครจะเป็นผู้รับภาระ ซึ่งบางบริษัทจะทำการเคลียร์ยอดคงเหลือวัตถุดิบ (Balance) ให้เป็นศูนย์ก่อนโอน หรือบางบริษัทผู้รับโอนยอมรับเป็นผู้รับภาระนั้นเอง หลังจากนั้น สกท. จะออกบัตรส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ที่เป็นการรับโอนให้กับผู้ซื้อหรือผู้รับโอน เพื่อนำมาบันทึกฐานข้อมูลรหัสโครงการและบันทึกบัญชีรายการวัตถุดิบที่รับโอนกับสมาคมต่อไป

สำหรับงานสูตรการผลิตนั้น เนื่องจากกรณีโอน-รับโอนกิจการ ทั้ง 2 บริษัทจะเป็นคนละเลขที่นิติบุคคล ดังนั้นการโอนสูตรการผลิตจะต้องดำเนินการแบบ Manual บริษัทยังไม่สามารถโอนสูตรผ่านระบบออนไลน์ได้ (แต่กรณีบริษัทผู้รับโอนต้องการขอสูตรการผลิตใหม่เพื่อใช้ในกิจการของตนเอง กรณีนี้ให้ทำการขออนุมัติสูตรการผลิตผ่านระบบงานฐานข้อมูลออนไลน์)

ขั้นตอนดำเนินงาน
1. สกท. จะส่งบันทึกข้อความพร้อมสำเนาบัตรส่งเสริมการลงทุน และสั่งการมายังสมาคม
2. สมาคมจะประสานงานบริษัท เพื่อแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงานและสิ่งที่บริษัทจะต้องดำเนินการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.1 แจ้งให้บริษัทติดต่อขอรหัสโครงการกับสมาคม และนำเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมายื่นที่เคาน์เตอร์บริการเพื่อบันทึกรหัสโครงการใหม่
2.2 สมาคมทำการสร้างบัญชีรายการวัตถุดิบชื่อหลัก และชื่อรอง DESC ภายใต้รหัสโครงการใหม่ ชื่อบริษัทใหม่ (ผู้รับโอน) พร้อมทำการโอนยอดปริมาณวัตถุดิบคงเหลือ (ถ้ามี) ยกไปเป็นค่าเริ่มต้น (Start_Qty) ของโครงการใหม่
2.3 สมาคมจะกำหนดวันนำเข้าครั้งแรก โดยกำหนดเป็นวันที่เริ่มต้น - สิ้นสุดที่คงเหลือตามสิทธิ์โครงการที่รับโอน
2.4 สำหรับสูตรการผลิต กรณีบริษัทต้องการใช้สูตรเดิมของผู้โอน ให้บริษัททำหนังสือขอโอนสูตรการผลิต ตามแบบฟอร์มที่กำหนด ซึ่งจะสามารถโอนได้เพียง 1 Revision เท่านั้น นำมายื่นที่สมาคมเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการขอโอนสูตรการผลิต (กรณีไม่ต้องการใช้สูตรเดิมของบริษัทผู้โอน สามารถยื่นขออนุมัติสูตรการผลิตใหม่ผ่านระบบงานฐานข้อมูลออนไลน์ได้)

การจัดการบัญชีรายการวัตถุดิบเดิมของผู้โอน
สำหรับข้อมูลบัญชีรายการวัตถุดิบโครงการเดิมของผู้โอน เมื่อสมาคมตั้งบัญชีโครงการใหม่ให้กับบริษัทผู้รับโอนแล้ว สมาคมจะทำการเคลียร์บัญชีของโครงการเดิม ดังนี้
1. ตรวจสอบปริมาณวัตถุดิบคงเหลือของโครงการเดิม และยกยอดไปเป็นค่าเริ่มต้น (Start_Qty) ของโครงการใหม่ที่รับโอนให้ถูกต้อง
2. ปรับยอดปริมาณวัตถุดิบคงเหลือของโครงการเดิมให้เป็นศูนย์
3. ปรับปริมาณสต็อกสูงสุด (Max Stock) ของโครงการเดิมให้เป็นศูนย์
4. ระงับสิทธิ์โครงการเดิมโดยการ Inactive

เงื่อนไขอื่นๆ ที่มีผลต่อการดำเนินงานของผู้รับโอน
1. การตัดบัญชีวัตถุดิบ : ในกรณีมีใบขนคงค้างจากผู้โอน ใบขนดังกล่าวสามารถนำมาตัดบัญชีวัตถุดิบได้ แต่ไม่สามารถตัดบัญชีแบบไร้เอกสารได้ (Paperless) ต้องตัดบัญชีแบบใช้เอกสารเท่านั้น ซึ่งต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่สกท.กำหนด
2. กรณีต้องการส่งออกวัตถุดิบที่นำเข้ากับโครงเดิมของผู้โอนไปต่างประเทศ จะไม่สามารถดำเนินการขออนุมัติผ่านระบบ IC Online System ได้เช่นเดียวกัน ต้องดำเนินการแบบ Manual เท่านั้น
3. โดยสามารถสอบถามวิธีปฏิบัติกับสมาคมเป็นกรณีๆ ไป
4. กรณีงานอื่นๆ สามารถดำเนินงานได้ตามปกติ

ติดตามเรื่องราวใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของผู้ใช้บริการได้ทาง Ic focus และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้ที่เว็ปไซต์สมาคม www.ic.or.th หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่หน่วยงาน CSU : Customer Support Unit โทรศัพท์ 02 666 9449 กด 1 อีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
.............................................

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง