รวมเทคนิคการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นสำหรับระบบงานฐานข้อมูลวัตถุดิบ RMTS Online

April 23,2022

รวมเทคนิคการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นสำหรับระบบงานฐานข้อมูลวัตถุดิบ RMTS Online

สมาคมได้รวบรวมปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหวางการเข้าใช้ระบบงานฐานข้อมูลวัตถุดิบ RMTS Online เพื่อมาไขปัญหากันในแต่ละเรื่อง ขอเริ่มต้นด้วยขั้นตอนการใช้งานก่อน ดังนี้

• การเริ่มใช้งานระบบครั้งแรก : การใช้งานครั้งแรก ทุกบริษัทหรือทุกโครงการจะต้องไปที่เมนู เอกสารประกอบการพิจาณา เพื่อเลือกรหัสโครงการที่จะใช้งาน เมื่อเข้าสู่หน้าจอของระบบแล้ว ปัญหาที่ผู้ใช้บริการมักจะพบเจอส่วนใหญ่ก็คือ ข้อมูลที่แสดงในหน้าระบบ แสดงข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง เช่น ชื่อผลิตภัณฑ์ตามบัตรส่งเสริม Max Capacity วันที่เริ่มใช้สิทธิ และวันที่สิ้นสุดสิทธิ ถ้าพบกรณีเช่นนี้ให้บริษัทติดต่อมายังสมาคมเพื่อประสานงานแก้ไขต่อไป
• ขั้นตอนการส่งคำร้องเข้าระบบ : ทุกประเภทงานที่ส่งคำร้องผ่านเข้าระบบแล้ว และระบบแสดงข้อความ Popup ดังภาพ

ซึ่งข้อความดังกล่าว เป็นเพียงการแสดงผลการยื่นไฟล์ข้อมูลสำเร็จเท่านั้น ระบบยังไม่ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลหรือเนื้อหาว่าถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนดหรือไม่ ดังนั้นเมื่อบริษัทกดตกลงแล้ว สิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไปคือให้บริษัทไปตรวจเช็คข้อมูลที่เมนู ตรวจสอบข้อมูลที่ยื่น เพื่อดูผลการตรวจสอบข้อมูลจากระบบว่าข้อมูลของท่านถูกต้องตามเงื่อนไข หรือข้อกำหนดหรือไม่ หากสถานะแสดงว่า “ไม่ผ่านการตรวจสอบ” บริษัทจะต้องคลิ๊กเข้าไปดูว่าระบบแสดงข้อผิดพลาดอะไร เพื่อจะได้ทำการแก้ไขให้ถูกต้องก่อนส่งคำร้องเข้าระบบใหม่อีกครั้งจนกว่าข้อมูลจะถูกต้อง กรณีข้อมูลถูกต้องระบบจะแสดงสถานะ “กำลังพิจารณา” หมายความว่าคำร้องนี้ได้ถูกส่งให้เจ้าหน้าที่สกท. พิจารณาตามลำดับต่อไปแล้ว

ขอเน้นนะคะว่า หลังจากระบบแสดงผลการยื่นไฟล์สำเร็จแล้ว บริษัทจะต้องไปตรวจสอบข้อมูลที่ยื่นก่อนทุกครั้ง ไม่เช่นท่านอาจจะเสียเวลาเพราะคำร้องดังกล่าวไม่ได้ถูกส่งไปยังเจ้าหน้าที่สกท. ดังที่ท่านคิด ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ด้วยว่า คำร้องของท่านไม่ถูกส่งไปให้เจ้าหน้าที่ สกท. พิจารณา

• การส่งคำร้องกลับไปแก้ไข : ในกรณีที่คำร้องของบริษัทถูกพิจารณาโดยเจ้าหน้าที่ สกท.แล้ว แต่มีการส่งกลับจากเจ้าหน้าที่เพื่อให้แก้ไขให้ถูกต้อง ในขั้นตอนการส่งกลับเจ้าหน้าที่จะกำหนดว่าให้บริษัทแก้ไขและส่งกลับคืนมาภายในวันที่เท่าไร ขอให้บริษัทตรวจสอบระยะเวลาที่กำหนดให้ส่งกลับด้วยนะคะ ว่าเจ้าหน้าที่ให้ท่านแก้ไขให้แล้วเสร็จและส่งกลับภายในระยะเวลากี่วัน หากท่านไม่ส่งกลับตามเวลาที่กำหนด ระบบจะทำการส่งกลับให้แบบอัตโนมัติ นั่นหมายความว่าคำร้องนั้นยังไม่ได้ทำการแก้ไข ดังนั้น ผลการพิจารณาจากเจ้าหน้าที่อาจจะเป็นการพิจารณาแบบไม่อนุมัติ ซึ่งจะทำให้ท่านเสียเวลา ที่จะต้องส่งคำร้องขอเข้ามาใหม่ และเริ่มต้นนับวันเวลาใหม่อีกครั้ง

อีกเรื่องหนึ่งที่จะขอนำมาอธิบายในฉบับนี้ คือการกำหนดระยะเวลานำเข้าครั้งแรกของโครงการ ทั้งกรณีที่เป็นสต็อกแบบหมุนเวียน และสต็อกแบบไม่หมุนเวียน (Group_MaxImport) รวมถึงกรณีที่มีการกำหนดระยะเวลานำเข้าไปแล้ว ต้องการแก้ไขระยะเวลาให้ครอบคลุมสิทธิสามารถดำเนินการได้ มีรายละเอียดดังนี้

• การกำหนดวันนำเข้าครั้งแรกของโครงการ จะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อ บริษัทได้รับอนุมัติบัญชีรายการและปริมาณสต็อกสูงสุดเรียบร้อยแล้ว เมื่อต้องการจะใช้สิทธิในการสั่งปล่อย โดยมีเงื่อนไขว่า ระยะเวลาเริ่มต้นใช้สิทธินั้นจะต้องไม่ก่อนวันที่อนุมัติโครงการ ส่วนระยะเวลาการสิ้นสุดสิทธิระบบจะกำหนดโดยการคำนวณเพิ่มไปอีกตามระยะเวลาที่บริษัทได้รับสิทธิในบัตรส่งเสริม เช่น 1 ปี หรือ 2 ปี
• การแก้ไขวันที่เริ่มใช้สิทธิ บริษัทสามารถขอแก้ไขวันนำเข้าครั้งแรกได้ โดยมีเงื่อนไขดังนี้
  1. ระยะเวลาเริ่มต้นที่ขอแก้ไข จะต้องไม่ก่อนวันที่อนุมัติโครงการ
  2. ระยะเวลาสิ้นสุดสิทธิจะต้องไม่ก่อนวันที่สั่งปล่อยวัตถุดิบงวดสุดท้าย (รายละเอียดดังภาพ)

• การกำหนดวันนำเข้าครั้งแรกของ Group_MaxImport สำหรับโครงการใดที่ได้รับอนุมัติรายการวัตถุดิบ
เป็นประเภทสต็อกแบบไม่หมุนเวียน หรือ Max_Import หลังจากที่ได้มีการกำหนดวันนำเข้าครั้งแรกของโครงการแล้ว จะต้องทำการกำหนดวันนำเข้าครั้งแรกของรายการวัตถุดิบที่เป็น Group_MaxImport เพิ่มต่างหาก โดยมีเงื่อนไขว่า ระยะเวลาที่ได้ต้องไม่เกินระยะเวลาสิ้นสุดสิทธิของโครงการ

• การกำหนดวันนำเข้ากรณีรวมบัตร โดยมีเงื่อนไขว่า วันที่เริ่มต้นใช้สิทธิ เป็นวันที่ของบัตรที่มีระยะเวลาเริ่มต้นหลังสุด วันที่สิ้นสุดสิทธิ เป็นวันที่ของบัตรที่มีระยะเวลาสิ้นสุดก่อนบัตรอื่น ดังภาพ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ Customer Support Unit : CSU โทรศัพท์ 0 2666 9449 กด 1
.........................................

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง