วิธีปฏิบัติและแนวทางการทำงานระบบ RMTS Online ที่ถูกต้องเพื่อลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน (1)
บทความนี้ ขอนำเรื่องประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ผู้ใช้บริการยังคงพบเจอและเกิดเป็นปัญหาต่อการทำงาน มาบอกเล่าถึงวิธีปฏิบัติและแนวทางการทำงานที่ถูกต้องเพื่อลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน มีเรื่องอะไรบ้างมาติดตามกัน
1. การขออนุมัติยกเลิกงานตัดบัญชีวัตถุดิบ Paperless : คงไม่มีท่านใดที่ทำการตัดบัญชีวัตถุดิบแล้ว ต้องการยกเลิกเพื่อตัดบัญชีใหม่อย่างแน่นอน เพราะทุกท่านทราบดีว่าการตัดบัญชีวัตถุดิบไปแล้วต้องมาขอยกเลิกและยื่นขออนุมัติตัดบัญชีใหม่อีกครั้งนั้น มีขั้นตอนในการทำงานหลายขั้นตอนที่ยุ่งยาก และที่สำคัญคือมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นอีกเท่าตัว แต่ก็ยังมีสาเหตุจำเป็นที่ต้องยกเลิกและทำให้เราปฏิเสธไม่ได้ที่ต้องดำเนินการ โดยมีสาเหตุหลัก ดังนี้
• คีย์ข้อมูลการขออนุมัติตัดบัญชีวัตถุดิบไม่ครบทุกรายการ ซึ่งแน่นอนว่า ถึงแม้การขออนุมัติ
ตัดบัญชีวัตถุดิบ ในขั้นตอนการจัดทำข้อมูลบริษัทสามารถดาวน์โหลดข้อมูลการส่งออกของบริษัทจากระบบของสมาคมได้ แต่ก็มีโอกาสที่บริษัทจะทำข้อมูลตกหล่นหรือผิดพลาดได้ เนื่องจากข้อมูลที่ได้มาบริษัทจะต้องนำมาจัดทำให้ตรงตามรูปแบบที่สมาคมกำหนดอีกครั้ง ดังนั้น เมื่อจัดทำข้อมูลแล้วเสร็จบริษัทจะต้องตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของข้อมูลอีกครั้ง ก่อนนำส่งเข้าระบบกับสมาคม
• คีย์ข้อมูลการโอนสิทธิ์ให้กับ Vendor ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นรายการวัตถุดิบที่โอนสิทธิ์หรือปริมาณที่ขอโอน บริษัทจะต้องตรวจสอบว่าท่านไปซื้อวัตถุดิบมาจากใคร วัตถุดิบชื่อว่าอะไร ปริมาณที่ซื้อมาและต้องการโอนสิทธิ์ในครั้งนี้จำนวนเท่าไร เพื่อให้ผู้รับโอนสามารถนำข้อมูลที่ได้รับโอนสิทธิ์จากท่านไปทำการตัดบัญชีวัตถุดิบต่อไปได้
2. การขออนุมัติตัดบัญชีวัตถุดิบแบบ Manual : เนื่องจากการจัดทำข้อมูล รายละเอียดการส่งออกในใบขนสินค้าขาออกไม่ถูกต้องหรือครบถ้วน เป็นเหตุให้ไม่สามารถนำข้อมูลมาตัดบัญชีวัตถุดิบแบบไร้เอกสารได้
ซึ่งเรื่องนี้ สมาคมได้ประชาสัมพันธ์และแจ้งผลที่ตามมากันแล้วว่า กรณีที่ไม่สามารถนำใบขนสินค้าขาออกมาตัดบัญชีวัตถุดิบแบบไร้เอกสารได้นั้น บริษัทจะต้องขออนุมัติตัดบัญชีวัตถุดิบแบบ Manual กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ สกท. ก่อนดำเนินการ และที่สำคัญซึ่งต้องพึงระวังคือ จะมีค่าใช้จ่ายในการตัดบัญชีวัตถุดิบใบขนละ 1,000 บาท
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดพลาดเป็นเพราะการทำข้อมูลไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วนในใบขนสินค้าขาออกนั่นเอง กรณีนี้แก้ปัญหาได้ง่ายมาก โดยผู้ที่ทำหน้าที่ส่งออกหรือทำข้อมูลการส่งออก ต้องมีความละเอียด รอบคอบและจัดทำข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วน เช่น การระบุสูตรการผลิตต้องตรงตามที่ได้รับอนุมัติจาก สกท. เป็นต้น
3. การขอแก้ไขปริมาณการสั่งปล่อยวัตถุดิบ : กรณีขออนุมัติสั่งปล่อยวัตถุดิบปริมาณมากกว่าของที่นำเข้ามาจริง มีอยู่ 2 สาเหตุหลัก คือ 1) บริษัทคีย์ข้อมูลปริมาณการขออนุมัติสั่งปล่อยไม่ตรงตามข้อมูลที่ระบุในเอกสารอินวอยซ์ 2) ของที่ตกมาถึงท่าเรือหรือท่าอากาศยานมีปริมาณน้อยกว่าที่แสดงในเอกสารอินวอยซ์ที่บริษัททำการสั่งปล่อยจริง
จากสาเหตุดังกล่าว สิ่งที่บริษัทสามารถดำเนินการป้องกันได้ในข้อ 1) เรื่องของการคีย์ข้อมูล โดยการเพิ่มความละเอียดรอบและการตรวจสอบข้อมูลก่อนส่งเข้าระบบ ส่วนข้อ 2) ของที่ตกมาถึงท่าเรือหรือท่าอากาศยานมีปริมาณน้อยกว่าที่แสดงในเอกสารอินวอยซ์ที่บริษัททำการสั่งปล่อยจริง บริษัทจำเป็นต้องขอแก้ไขโดยการนำหลักฐานการนำเข้ามาแสดงและขออนุมัติแก้ไขกับ สกท.
4. งานขออนุมัติปรับยอดวัตถุดิบ : กรณีบริษัทสั่งปล่อยวัตถุดิบผิดกรุ๊ป หรือชื่อวัตถุดิบไม่ถูกต้อง ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้จะทยอยหมดไป เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา สกท. ได้ออกประกาศเรื่องรายการวัตถุดิบที่ขออนุมัติสั่งปล่อยชื่อไม่ตรงกับที่ได้รับอนุมัติในบัญชีปริมาณสต็อกสูงสุดจะไม่สามารถสั่งปล่อยได้ โดยผู้ใช้บริการจะต้องยื่นขออนุมัติชื่อรองรายการวัตถุดิบกับ สกท.ก่อน จึงจะสามารถดำเนินการขออนุมัติสั่งปล่อยได้ ซึ่งวิธีปฏิบัติในกรณีนี้ สมาคมได้นำเสนอรายละเอียดใน IC Focus ฉบับที่ผ่านมาไปแล้ว
5. งานขอแก้ไขระยะเวลานำเข้าครั้งแรก : ปัจจุบันการกำหนดระยะเวลานำเข้าครั้งแรกของแต่ละโครงการ บริษัทจะเป็นผู้กำหนดผ่านระบบฐานข้อมูล RMTS Online แบบอัตโนมัติ โดยมีเงื่อนไขว่า ระยะเวลาเริ่มต้นใช้สิทธิ์นั้นจะต้องไม่ก่อนวันที่อนุมัติโครงการ ส่วนระยะเวลาการสิ้นสุดสิทธิ์ ระบบจะกำหนดโดยการคำนวณเพิ่มไปอีกตามระยะเวลาที่บริษัทได้รับสิทธิในบัตรส่งเสริมการลงทุน เช่น 1 ปี หรือ 2 ปี
หลังจากที่บริษัทได้กำหนดวันนำเข้าครั้งแรกไปแล้ว หากพบว่าระยะเวลาที่กำหนดไม่ครอบคลุมกับรายการวัตถุดิบหรืออินวอยซ์ที่เคยนำเข้าแบบขอใช้สิทธิ์ธนาคารค้ำประกัน หรือชำระภาษีอากรไว้ก่อนหน้านี้
จึงทำให้ไม่สามารถขอถอนธนาคารค้ำประกันได้ หรือขอคืนภาษีอากรได้ บริษัทจึงจำเป็นต้องขอแก้ไขระยะเวลานำเข้าครั้งแรก ซึ่งการขออนุมัติแก้ไขจะต้องมีขั้นตอนการขออนุมัติจาก สกท. ก่อน ดำเนินการ โดยมีเงื่อนไขว่า
1. ระยะเวลาเริ่มต้นที่ขอแก้ไข จะต้องไม่ก่อนวันที่อนุมัติโครงการ
2. ระยะเวลาสิ้นสุดสิทธิ์จะต้องไม่ก่อนวันที่สั่งปล่อยวัตถุดิบงวดสุดท้าย
ดังนั้น ในการกำหนดวันนำเข้าครั้งแรกของโครงการใหม่ ขอให้บริษัทตรวจสอบให้ดีก่อนว่า เคยมีการนำเข้าโดยการขอใช้สิทธิ์ธนาคารค้ำประกัน หรือชำระภาษีอากรไปก่อนแล้วต้องการขอถอนธนาคารค้ำประกันหรือขอคืนภาษีอากรหรือไม่ เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาในการปฏิบัติงาน
สำหรับฉบับนี้ ขอนำเสนอประเด็นปัญหาที่ผู้ใช้บริการสามารถควบคุมหรือป้องกันปัญหาได้ด้วยตัวท่านเอง เพื่อการปฏิบัติงานที่ถูกต้อง ลดข้อผิดพลาดที่ทำให้เกิดความล่าช้าต่อการยื่นขออนุมัติงาน โดยในฉบับต่อไปผู้เขียนจะนำเรื่องราวใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของท่านมานำเสนออย่างต่อเนื่อง โดยผู้ใช้บริการสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์สมาคม www.ic.or.th หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยงาน CSU : Customer Support Unit ได้ที่ โทรศัพท์ 02 666 9449 กด 1 หรือส่งคำถามมาที่อีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.