การยกเลิกบัตรส่งเสริมการลงทุน

July 27,2022

การยกเลิกบัตรส่งเสริมการลงทุน

ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ และไม่ประสงค์ที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว ผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนสามารถขอยกเลิกบัตรส่งเสริม โดยนำส่งหนังสือชี้แจงจากบริษัท เรื่อง ขอยกเลิกบัตรส่งเสริม โดยชี้แจงเหตุผลที่ต้องการยกเลิกบัตรส่งเสริม เช่น เลิกประกอบกิจการ ยกเลิกการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการส่งเสริม หรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีสิ้นสุดลงโดยไม่ประสงค์จะใช้สิทธิที่ไม่ใช่ภาษี เป็นต้น
ทั้งนี้ สำนักงานจะดำเนินการตรวจสอบการใช้สิทธิและประโยชน์จากระบบการจัดเก็บเอกสารของสำนักงาน และสมาคมสโมสรนักลงทุน ได้แก่ การใช้สิทธิและประโยชน์ด้านเครื่องจักร ด้านวัตถุดิบ ด้านที่ดิน ด้านช่างฝีมือ และด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามสิทธิและประโยชน์ที่ได้รับตามประเภทกิจการ และให้นำส่งหนังสือขอยกเลิกบัตรส่งเสริมที่กองติดตามและประเมินผลการลงทุน 1 – 2 หรือศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาค 1 – 7 โดยหลักประกัน การคุ้มครอง และสิทธิประโยชน์ทั้งหมดจะสิ้นสุดลงในวันที่ได้รับอนุมัติให้ยกเลิกบัตรส่งเสริม

• แนวทางการพิจารณาเบื้องต้น มีดังนี้
กรณีที่ 1 ขอยกเลิกบัตรส่งเสริม โดยที่ไม่เคยใช้สิทธิประโยชน์ใดๆ เลย หากสำนักงานตรวจสอบและพบว่าผู้ได้รับการส่งเสริมไม่เคยมีการใช้สิทธิและประโยชน์ใดๆ สำนักงานก็จะยกเลิกบัตรส่งเสริมให้โดยไม่มีภาระภาษี
กรณีที่ 2 ขอยกเลิกบัตรส่งเสริม โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการ สำนักงานจะถือว่าผู้ได้รับการส่งเสริมไม่เคยได้รับการส่งเสริมตั้งแต่ต้น และผู้ได้รับการส่งเสริมจะต้องชำระภาษีอากรที่ได้รับสิทธิและประโยชน์จากสำนักงาน กรณีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ อาจมีภาระภาษีที่จะต้องชำระคืน พร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ (ถ้ามี) ได้แก่
   - ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล จะต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เคยใช้สิทธิยกเว้นภาษีไปแล้วคืนทั้งหมด พร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ
   - ด้านอากรขาเข้าเครื่องจักร จะต้องชำระอากรขาเข้าเครื่องจักรและภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังตามสภาพ ณ วันนำเข้า พร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ
   - ด้านอากรขาเข้าวัตถุดิบ จะต้องชำระอากรขาเข้าวัตถุดิบและภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังตามสภาพ ณ วันนำเข้า พร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ
กรณีที่ 3 กรณีที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการแล้ว และปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขบัตรส่งเสริมมาโดยตลอด
   - ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่มีภาระภาษีที่ต้องชำระคืน
   - ด้านอากรขาเข้าเครื่องจักร หากเครื่องจักรมีอายุเกินกว่า 5 ปีนับจากวันนำเข้า จะอนุญาตให้ตัดบัญชีเครื่องจักรเพื่อปลอดภาระภาษี จึงจะไม่มีภาระที่ต้องชำระอากรขาเข้าเครื่องจักรคืนในส่วนนี้ แต่หากเครื่องจักรมีอายุน้อยกว่า 5 ปี จะต้องชำระอากรขาเข้าเครื่องจักรและภาษีมูลค่าเพิ่มตามสภาพ ณ วันที่อนุมัติให้ยกเลิกบัตรส่งเสริม โดยไม่ต้องชำระเงินเพิ่มหรือเบี้ยปรับ
***กรณีที่ผู้ได้รับส่งเสริมเป็นบริษัทต่างด้าว และใช้สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน ผู้ได้รับส่งเสริมจะต้องจำหน่ายที่ดินดังกล่าว ภายใน 1 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุมัติให้ยกเลิกบัตรส่งเสริม

• เอกสารการประการพิจารณา
1. จดหมายชี้แจงบริษัท โดยต้องระบุสาระสำคัญ ได้แก่ เลขที่บัตรส่งเสริม / ลงวันที่ออกบัตรส่งเสริม และเหตุผลการขอยกเลิกบัตรส่งเสริม
2. สำเนาหนังสือรับรองบริษัท
3. สำเนาบัตรส่งเสริม
4. สำเนางบการเงินปีล่าสุด
5. สำเนา ภ.ง.ด. 50 ปีล่าสุด
ทั้งนี้ เอกสารตามข้อ 1 – 5 ต้องมีลายเซ็นกรรมการผู้จัดการหรือผู้มีอำนาจลงนามพร้อมทั้งประทับตราบริษัท ยื่นแบบคำขอยกเลิกโครงการ ที่กองติดตามและประเมินผลการลงทุน 1 – 2 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาค 1 – 7
.........................................

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง