ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

July 08,2022

ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรูปแบบเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy)
นั่นคือ มีการผลิต นำใช้ไป แล้วทิ้ง จึงเป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีอยู่ในทุกกระบวนการผลิตตลอดจนการทิ้งหลังการใช้งาน ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาการผลิตให้สอดรับกับสภาพการเปลี่ยนแปลง โดยผลิตรถยนต์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์อีโคคาร์ รถยนต์ขนาดเล็กสำหรับคนวัย Gen และรถยนต์ไฟฟ้ารองรับการเปลี่ยนแปลงจากการใช้น้ำมันเป็นพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น
แต่ยังคงไม่เพียงพอสำหรับผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์จึงได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เข้ามาแทรกซึมและนำมาใช้ โดยให้ความสำคัญกับระบบที่มีการวางแผนและออกแบบมาเพื่อใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคืนสภาพหรือให้ชีวิตใหม่แก่วัสดุต่างๆ ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ แทนที่จะทิ้งไปเป็นขยะเมื่อสิ้นสุดการบริโภค เริ่มตั้งแต่การออกแบบรถยนต์ที่มุ่งเน้นการลดของเสีย ออกแบบรถยนต์ให้สามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน มีการนำชิ้นส่วนมาผลิต ซ่อมแซ่ม หรือปรับปรุงใหม่ มีการนำวัสดุกลับมาใช้ซ้ำให้คุ้มค่า และนำกลับไปเข้าสู่กระบวนการแปรรูปให้เป็นวัตถุดิบ ตลอดจนการแปรวัสดุต่างๆ ที่จะกลายเป็นขยะให้กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่โดยการนำมาเพิ่มมูลค่า และใส่ไอเดียใหม่ๆ ให้กับสิ่งที่กำลังจะกลายเป็นขยะ

ดังนั้น “การออกแบบผลิตภัณฑ์จึงเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่จะไม่ก่อให้เกิดของเสียออกนอกระบบการผลิต การทำให้ผลิตภัณฑ์มีความคงทน ใช้งานได้ยาวนาน มีการสร้างความยืดหยุ่นผ่านความหลากหลาย มีคุณสมบัติในการแยกส่วนทำให้สามารถนำมาใช้ได้อีกครั้ง โดยใช้พลังงานน้อยที่สุดและสามารถคงคุณภาพเดิมได้มากที่สุด”
โดยในปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ได้มีการพัฒนาและปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ตั้งแต่ระบบการผลิตไปจนถึงความปลอดภัยแบบใหม่ ทั้งระบบไฟฟ้าและดิจิทัล โดยมีแนวคิดสำคัญที่จะมุ่งไปสู่ยานยนต์ปลอดคาร์บอนหรือไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ เพื่อบรรเทาปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การพัฒนานี้เริ่มตั้งแต่การออกแบบยานยนต์คุณภาพสูง ด้วยวัสดุเกรดดี เลือกส่วนประกอบและวัสดุที่จะรีไซเคิลได้หรือนำกลับมาใช้ใหม่เมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งานยานพาหนะ โดยพัฒนาระบบการคัดแยกและรวบรวมให้ดียิ่งขึ้น มีการออกแบบสำหรับการถอดชิ้นส่วนได้สะดวก การใช้ซ้ำ การผลิตซ้ำ และการรีไซเคิล รวมถึงแบตเตอรี่ที่มีมาตรฐาน เอื้อให้สามารถนำไปผ่านกระบวนการเพื่อใช้ได้มากกว่า 1 ครั้ง และสามารถรองรับระบบพลังงานในอนาคตได้ ทั้งนี้ กระบวนการผลิตโดยแนวคิดนี้ควรจะต้องกลไกทางการเงินที่เอื้อต่อการลงทุนในด้านนี้ให้กว้างขวางขึ้น กำหนดเป้าหมายและส่งเสริมระบบมาตรฐานและการรองรับผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ อีกทั้งควรมีการเผยแพร่องค์ความรู้ในด้านนี้ให้กว้างขวางมากขึ้น

ทั้งนี้ โครงการฉลากเขียว (Green Label) ของประเทศไทย ได้มีการรับรองรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีการพิจารณาตั้งแต่การออกแบบให้ชิ้นส่วนสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ขณะใช้งาน ลดสารพิษที่ใช้ในกระบวนการผลิต เช่น สีและชิ้นส่วนพลาสติกที่ใช้มีโลหะหนักไม่เกินมาตรฐาน ชิ้นส่วนอลูมิเนียมมีตะกั่วไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ผ้าเบรกและแผ่นคลัตช์ไม่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน เป็นต้น อีกทั้งต้องมีคำแนะนำในการบำรุงรักษาซ่อมแซมรถยนต์เพื่อยืดอายุการใช้งาน ในส่วนของศูนย์บริการรถยนต์ต้องมีการจัดการของเสียอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมยานยนต์จะเดินหน้าไปได้ไกลหรือไม่นั้นขึ้นกับรูปแบบการใช้รถยนต์ให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด เช่น การเดินทางไปด้วยกันในเส้นทางเดียวกัน ระบบการเดินทางที่รวบรวมบริการทุกอย่างด้านการขนส่งมาไว้ในพื้นที่ที่อำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคได้มากที่สุดภายในแพลตฟอร์มเดียว โดยรวบรวมหรือเชื่อมต่อบริการภาคคมนาคมขนส่งจากผู้ให้บริการทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้สามารถจัดการรูปแบบการเดินทางและสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายได้ด้วยระบบเดียวกัน รวมถึงการปรับเปลี่ยนเครือข่ายการกระจายสินค้าและซ่อมบำรุงให้กลายเป็นศูนย์รวมการผลิตซ้ำและการรีไซเคิล ตลอดจนการนำการออกแบบที่มีการแยกส่วนประกอบย่อยและการนำวัสดุคาร์บอนต่ำมาใช้ในการออกแบบและผลิตรถยนต์

ดังนั้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์จึงควรมีการศึกษาและพัฒนาแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้กับกระบวนการผลิต เพื่อให้สามารถผลิตรถยนต์ที่สอดรับกับสถานการณ์ตลาดรถยนต์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหม่ที่เพิ่งเริ่มดำเนินการกิจการและกำลังเข้าสู่วางการอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือผู้ประกอบการรายเดิมแต่กำลังดำเนินการเพิ่มโครงการใหม่ เพื่อขยายฐานการผลิตและเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้มากขึ้น จึงควรนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้มาพัฒนาและปรับใช้กับกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ของการทำงาน ตั้งแต่ขั้นตอนการเริ่มขอรับส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน การจัดทำบัญชีรายการวัถตุดิบเพื่อการนำเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นสำหรับการผลิตรถยนต์ ไปจนถึงขั้นตอนการผลิต การขาย และบริการหลังการขาย เพื่อจะได้ผลผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพสู่ตลาดสากลและสอดรับกับเงื่อนไขในด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นการการันตีด้านยอดขายที่ดีในอนาคต
.................................

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง