ขั้นตอนการรับโอนกิจการ/หยุดกิจการชั่วคราว สำหรับกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน
• การโอน ควบรวมกิจการที่ได้รับการส่งเสริม
เมื่อผู้ได้รับส่งเสริมต้องการโอนหรือขายกิจการที่ได้รับส่งเสริมให้กับผู้อื่น สำนักงานจะพิจารณาว่าเป็นการโอน หรือการควบรวมกิจการนั้น ให้พิจารณาจากนิติบุคคลที่รับโอนกิจการ
1. การโอนกิจการ จะเป็นนิติบุคคลที่รับโอนกิจการเป็นนิติบุคคลเดิม (ไม่ได้มีการจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นมาใหม่)
ตัวอย่าง : บริษัท A (BOI) กับ B (Non-BOI) รวมกันแล้ว เหลือบริษัท A หรือ B บริษัทใดบริษัทหนึ่ง (A+B = A หรือ A+B = B)
** ดังนั้น การโอนกิจการคือ...บริษัท B รับโอนกิจการที่ได้รับการส่งเสริมจากบริษัท A (BOI) จะใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาและขั้นตอนการขอรับการส่งเสริมตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 2/2547 เรื่อง การโอน ควบ รวมกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
แต่หาก A (BOI) และไปรับโอนกิจการของ B (Non-BOI) บริษัท A ต้องไปดำเนินการรับโอนกิจการตามระเบียบและขั้นตอนที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด (ไม่ต้องแจ้งบีโอไอ)
2. การควบรวมกิจการ = นิติบุคคลที่รับโอนกิจการเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่
ตัวอย่าง เมื่อบริษัท A และบริษัท B ควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน และจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นใหม่ (C)
(A+B = C) ในทางกฎหมายจะถือว่า บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้ เป็นคนละนิติบุคคลกับบริษัทเดิม ไม่ว่าบริษัทที่ตั้งใหม่นี้จะตั้งชื่อเป็น A หรือ B เหมือนเดิม หรือตั้งชื่อใหม่เป็น C ก็ตาม
• ขั้นตอนการดำเนินการขอโอน/ควบรวมกิจการ
กรณีที่ 1 หากยังไม่ได้จัดตั้งนิติบุคคลใหม่ (การควบรวมกิจการ) เมื่อมาดำเนินการยื่นคำขอควบรวมกิจการกับสำนักงาน ให้ผู้ยื่นคำขอระบุชื่อบริษัทใหม่ พร้อมทั้งระบุวันที่จะควบรวมกิจการ
กรณีที่ 2 หากบริษัทโอน/ควบรวมกิจการไปแล้วก่อนการยื่นคำขอกับสำนักงาน บริษัทต้องดำเนินการยื่นคำขอโอน/ควบรวมกิจการภายใน 3 เดือน เนื่องจากเมื่อดำเนินการโอน/ควบรวมกิจการไปแล้ว บัตรส่งเสริมของบริษัทผู้โอนกิจการจะใช้สิทธิประโยชน์ตามบัตรได้อีกไม่เกิน 3 เดือนนับจากวันควบรวมกิจการ
ดังนั้น หากบริษัทผู้รับโอนกิจการ หรือบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการ ไม่ยื่นคำขอโอน/ควบรวมกิจการภายใน 3 เดือน สิทธิประโยชน์ของบัตรส่งเสริมจะสิ้นสุดลง และบริษัทใหม่ที่เกิดจากการโอน/ควบรวมกิจการจะต้องชำระภาษีอากรที่เหลืออยู่ทั้งหมดของผู้โอนกิจการ
โดยนิติบุคคล หรือนิติบุคคลใหม่ ที่โอน/ควบรวมกิจการจะได้รับสิทธิและประโยชน์เท่าที่บัตรส่งเสริมของผู้โอนกิจการเดิมยังเหลืออยู่ ดังนั้น บริษัทจึงควรยื่นขอรับการส่งเสริมล่วงหน้าก่อนวันที่จะควบรวมกิจการเพื่อให้สามารถเตรียมการออกบัตรส่งเสริมใหม่ได้ในวันที่ควบรวมกิจการ
• เอกสารประกอบการพิจารณา (พิจารณา 30 วันทำการ)
สำหรับผู้ขอรับโอนกิจการ
1. หนังสือชี้แจงของบริษัทขอรับโอนกิจการ (ยืนยันการรับผิดชอบในภาระภาษีอากรเครื่องจักร และวัตถุดิบทั้งหมดของผู้โอน) ต้องมีข้อความนี้ กรรมการลงนามและประทับตราบริษัท
2. แบบคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อรับโอนกิจการ (F PA PC 17) (กรรมการผู้มีอำนาจลงนามร่วมกัน)
3. ตารางรายละเอียดเครื่องจักรที่ขอรับโอน (ต้องมี) ลงนามร่วมกัน
4. ตารางรายละเอียดวัตถุดิบ วัสดุจำเป็น และของที่รับโอน (ต้องมี) ลงนามร่วมกัน
5. หนังรับรองการจดทะเบียนบริษัท ฉบับล่าสุด ไม่เกิน 6 เดือน
6. บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ฉบับล่าสุด
7. งบการเงินฉบับล่าสุด
8. หนังสือมอบอำนาจ ติดอากร 30 บาท สำเนาบัตรผู้มอบและผู้รับมอบพร้อมลงนาม
9.กรณีโอนกิจการ: สำเนามติที่ประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้น ระบุวัตถุประสงค์ในการโอนกิจการ และมูลค่าการซื้อขาย (ผู้ถือหุ้นลงนามทุกราย) กรณีผู้ถือหุ้นเป็นนิติบุคคลให้แนบประวัติบริษัท สำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาพาสปอร์ตของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม พร้อมลงนาม
สำหรับผู้โอนกิจการ
1. หนังสือขอโอนกิจการจากบริษัท (จดหมายนำบริษัท)
2. บัญชีรายการวัตถุดิบ และปริมาณสต๊อคสูงสุด (กรณีใช้สิทธิวัตถุดิบ)
3. หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ฉบับล่าสุด ไม่เกิน 6 เดือน
4. บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ฉบับล่าสุด
5. Invoice ใบแรก
6. ทะเบียนสินทรัพย์
7. สำเนาบัตรส่งเสริม
8. หนังสือมอบอำนาจ ติดอากร 30 บาท สำเนาบัตรผู้มอบและผู้รับมอบพร้อมลงนาม
9. กรณีโอนกิจการ: สำเนามติที่ประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้น ระบุวัตถุประสงค์ในการโอนกิจการ และมูลค่าการซื้อขาย (ผู้ถือหุ้นลงนามทุกราย) กรณีผู้ถือหุ้นเป็นนิติบุคคลให้แนบประวัติบริษัท สำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาพาสปอร์ตของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม พร้อมลงนาม
**** กรณีควบรวมกิจการ หากมีการควบรวมกิจการกับนิติบุคคลที่ไม่ได้รับการส่งเสริม ก็ต้องนำส่งเอกสารของนิติบุคคลนั้นเพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติควบรวมกิจการด้วย (เอกสารสำหรับผู้โอนกิจการ) เพื่อประกอบการพิจารณาให้การส่งเสริมบริษัทนั้นตามเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนที่สำนักงานกำหนด เช่น การพิจารณาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจดทะเบียน (หรือส่วนของผู้ถือหุ้น)
• การหยุดกิจการชั่วคราว
กรณีที่ผู้ได้รับส่งเสริมจะหยุดดำเนินกิจการเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 เดือน จะต้องยื่นขออนุญาตจากสำนักงานก่อนการหยุดกิจการไป
• แนวทางการพิจารณา
- กรณีผู้ได้รับการส่งเสริมที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการแล้ว และมีเครื่องจักรและอุปกรณ์ ที่นำเข้าโดยใช้สิทธิและประโยชน์ยกเว้น/ลดหย่อนอากรขาเข้าอยู่ครบถ้วนที่โรงงาน/สถานประกอบการ
(1) กรณีที่เครื่องจักรในโรงงานมีลักษณะเคลื่อนย้ายได้ยาก เช่น อุตสาหกรรมเหล็กหรือปิโตรเคมี การขอหยุดดำเนินกิจการในช่วงสั้นๆ เช่น ไม่เกิน 6 เดือน จะอนุญาตให้หยุดดำเนินกิจการเป็นการชั่วคราวได้ โดยไม่ต้องตรวจสอบสถานประกอบการ
(2) กรณีเครื่องจักรในโรงงาน/สถานประกอบการมีลักษณะเคลื่อนย้ายได้ง่าย หรือมีข้อสงสัยอื่น จะตรวจสอบโรงาน/สถานประกอบการก่อนว่าเครื่องจักรยังติดตั้งอยู่ครบถ้วนถูกต้อง จากนั้นจึงจะอนุญาตให้หยุดดำเนินกิจการเป็นการชั่วคราว
- กรณีผู้ได้รับการส่งเสริมที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการแล้ว แต่ไม่มีเครื่องจักรและอุปกรณ์พร้อมที่จะดำเนินกิจการตามโครงการได้ จะพิจารณาว่ามีเจตนาไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขที่ได้รับส่งเสริม และจะดำเนินการเพิกถอนบัตรส่งเสริมต่อไป
• เอกสารที่ใช้ประกอบพิจารณา
1) แบบคำขอหยุดดำเนินกิจการ (F PM ST 01) ที่มีข้อมูลสมบูรณ์ครบถ้วน
2) ยื่นแบบคำขอแก้ไขโครงการที่กองส่งเสริมการลงทุน 1 – 4 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาค 1 – 7
..................................