มาตรการบีโอไอดึงดูดการลงทุนเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech)

May 06,2022

มาตรการบีโอไอดึงดูดการลงทุนเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech)

หากกล่าวถึง Deep tech ใครหลายคนอาจจะยังไม่เคยได้ยินหรือคุ้นชินมากนัก เพราะยังเป็นคำที่ใช้เฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเป็นส่วนใหญ่ และได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีในแบบที่ไม่มีใครเหมือน!
Deep Tech (Deep Technology) หรือ เทคโนโลยีเชิงลึก ซึ่งเป็นผลสำเร็จที่ได้จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ที่ไม่เหมือนใคร ลอกเลียนแบบได้ยาก และเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีสิทธิบัตรคุ้มครอง เพราะผ่านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมอย่างยาวนาน ทำให้ Deep Tech กลายเป็นของใหม่ ซับซ้อน คู่แข่งน้อย มีความได้เปรียบทางธุรกิจในระยะยาว โดยเฉพาะในกลุ่ม Deep Tech Startup ที่จะได้รับการสนับสนุนทั้งด้านเงินทุน เทคโนโลยี และการปล่อยออกสู่ตลาดจากภาครัฐและเอกชนตามเงื่อนไขที่กำหนด

ปัจจุบันมี Deep Tech Startup เกิดขึ้น 8 ประเภท ได้แก่
1. Artificial Intelligence (AI) : ปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกพัฒนาให้ฉลาด รู้จักวิเคราะห์ ประมวลข้อมูล วางแผน และตัดสินใจได้ เช่น ระบบค้นหาและจองสายการบินของ Sky Scanner ระบบจดจำเสียงและใบหน้าบนสมาร์ทโฟน
2. Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) : AR เป็นเทคโนโลยีที่ผสานโลกเสมือนเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง เช่น เกม Pokemon GO หรือคิวอาร์โค้ดสำหรับแสกนเป็นภาพ 3 มิติในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจะต่างจาก VR ที่เป็นการจำลองโลกจริงในโลกเสมือน (Simulation) โดยอาศัยแว่น VR เป็นตัวช่วย เช่น เกม PlayStation VR
3. Internet of Things (IoT) : การเชื่อมโยงทุกอย่างสู่โลกอินเทอร์เน็ต ทำให้อุปกรณ์เชื่อมต่อและสั่งการได้ผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น การเปิดปิดอุปกรณ์ไฟฟ้า การตั้งค่าให้เซ็นเซอร์วัดระดับน้ำส่งสัญญาณเตือนเข้ามือถือคนในชุมชนเมื่อระดับน้ำขึ้นสูง
4. Blockchain : เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูล เป็นโครงข่ายไร้ศูนย์กลาง เชื่อถือได้ ชุดข้อมูลจะตรงกันทุกชุด สามารถตรวจสอบและป้องกันการแก้ไขข้อมูลได้ นำมาใช้ประโยชน์ในการทำสัญญาที่ทุกคนจะเห็นต้นฉบับตรงกัน
5. Biotech : การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับระบบชีวภาพ เช่น การสร้างกระดูกเทียมด้วยการพิมพ์สามมิติด้วยไทเทเนียมของ Meticuly บริษัท Startup ของไทย
6. Robotics : วิทยาการหุ่นยนต์ที่นำมาใช้ในด้านต่างๆ เช่น YOMI หุ่นยนต์ทันตกรรม Atlas หุ่นยนต์ขนของกู้ภัย
7. Energy : การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับระบบพลังงาน เช่น แบตเตอรีลิเธียม-แอร์ (Lithium-air Battery) ที่ดึงออกซิเจนรอบตัวมาใช้ ทำให้ใช้งานได้นานขึ้น การใช้อัลกอริทึมอัจฉริยะควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารแบบเรียลไทม์
ลดการใช้พลังงานได้สูงสุดถึงร้อยละ 40
8. Spacetech : เทคโนโลยีอวกาศ เช่น เทคโนโลยีส่งข้อมูลหรือติดต่อสื่อสารระหว่างโลกและอากาศยาน การสำรวจนอกโลก การวิเคราะห์ข้อมูลวัตถุอวกาศ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลด้านการส่งเสริมการลงทุนเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาและเติบโตของอุตสหากรรมเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) ได้ออกมาตรการสนับสนุนและกระตุ้นการลงทุนย่านนวัตกรรมการแพทย์ โดยได้รับมติเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ
บอร์ดบีโอไอ ให้พื้นที่ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ตามประกาศของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นเขตส่งเสริมการลงทุน เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยมีพื้นที่ศูนย์กลางนวัตกรรมและการวิจัยทางการแพทย์ และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรม และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) ระหว่างผู้ประกอบการกับสถาบันหรือหน่วยงานของภาครัฐ เช่น สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ และสถาบันวิจัย เป็นต้น

โดยผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุน จะต้องมีความร่วมมือ 2 รูปแบบ ประกอบด้วย 1) ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ได้แก่ ความร่วมมือในโครงการ Work-integrated Learning (WIL) สหกิจศึกษา และทวิภาคี หรือความร่วมมือเพื่อพัฒนาบุคลากรไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่น ๆ ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 2) ความร่วมมือกับสถาบันหรือหน่วยงานของภาครัฐ เช่น โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย เป็นต้น ในการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) เช่น MedTech เป็นต้น

โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยจะได้รับสิทธิและประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ
นอกจากนั้น ยังเห็นชอบให้สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) และอาคารศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประยุกต์สู่ SMEs สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ณ เทคโนธานี เป็นเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่รองรับการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนา และการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการวิจัย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น การผลิตชิ้นส่วนระบบราง การผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้าหรือยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมและบริการ เพื่อสุขภาพ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต อุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ อุตสาหกรรมชีวภาพ รวมถึงอุตสาหกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ผู้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว จะได้รับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ คือ ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี หรือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 2 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทกิจการ แน่นอนว่าการอนุมัติให้เป็นเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเป็นการเสริมกำลังการสนับสนุนเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) ให้สามารถพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมแบบครบวงจร ผลักดันให้ Deep Tech เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง
โดยผู้ประกอบการที่สนใจขอรับส่งเสริมการลงทุน สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการลงทุน โทรศัพท์ 0 2553 8111 อีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. หรือ www.boi.go.th

ข้อมูลจาก: https://www.boi.go.th/index.php?page=press_releases_detail&topic_id=130868
https://www.nia.or.th/DeepTech

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง