มาตรการ CSR ของบีโอไอ สนับสนุนและเติมเต็มพลังให้ธุรกิจและชุมชน

September 13,2023

มาตรการ CSR ของบีโอไอ สนับสนุนและเติมเต็มพลังให้ธุรกิจและชุมชน

CSR (Corporate Social Responsibility) หรือความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่ "ทางเลือก" ในการดำเนินธุรกิจ แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในด้านของ ความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม หรือการสร้างคุณค่าให้แก่สังคมและชุมชน

CSR สำคัญอย่างไร?
ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ไม่เพียงแค่สร้างมูลค่าเพิ่มหรือคุณค่าให้กับแบรนด์หรือองค์กรเท่านั้น แต่ยังมีข้อดีอีกหลายอย่างที่น่าสนใจ เช่น
• สร้างความไว้วางใจให้ผู้บริโภค: ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสนใจกับแบรนด์และสินค้าที่มีการบริหารจัดการที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม
• สร้างความน่าเชื่อถือในหมู่นักลงทุน: ในปัจจุบันนักลงทุนไม่เพียงสนใจแต่ผลกำไร แต่ยังมุ่งหวังความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งมีผลต่อการเติบโตของธุรกิจในระยะยาวเช่นกัน
• ส่งผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม: การทำ CSR ไม่ได้เป็นเรื่องของธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำประโยชน์ให้กับสังคมและเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
• ช่วยพัฒนาชุมชน: การทำ CSR อาจมาในรูปแบบการสนับสนุนโครงการในด้านการศึกษา การเกษตร หรือผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

การทำ CSR จึงไม่ได้เป็นเพียงการสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์หรือองค์กรเท่านั้น แต่ยังเป็นการวางรากฐานของการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจในระยะยาวอีกด้วย

ดังนั้น ด้วยความสำคัญดังกล่าว บีโอไอจึงให้ความสำคัญกับเรื่อง CSR โดยออก “มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม” ซึ่งได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ผลักดันให้บริษัทรายใหญ่ได้เข้ามาช่วยเหลือ สร้างการเปลี่ยนแปลง และสร้างคุณค่าให้กับชุมชนท้องถิ่น อาทิ

ด้านการเกษตรและการจัดการน้ำ
- บริษัท สยามคูโบต้า: สนับสนุนเครื่องจักรด้านการเกษตรและอบรมทักษะทางการเกษตรให้ 177 ชุมชนใน 35 จังหวัด
- บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์: จัดหาเครื่องจักรและสนับสนุนระบบจัดการน้ำแบบองค์รวมสำหรับองค์กรท้องถิ่นใน 9 จังหวัด
- บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์: สร้าง Smart Farm และจัดอบรมการใช้แอปพลิเคชันปลูกผักออร์แกนิกสำหรับชุมชน เงาะป่าพาราไดซ์ในสมุทรปราการ

ด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน
- บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย): สนับสนุนชุมชนและสังคม 4 ด้าน: วิสาหกิจชุมชนรอบสถานประกอบการ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พัฒนาเยาวชนท้องถิ่นห่างไกล และสนับสนุนองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

ด้านการศึกษา
- บริษัท ไทยสตีลเคเบิล: ร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี เสนอแผนสร้างห้องปฏิบัติการซอฟต์แวร์ CATIA และเครื่องกลไฟฟ้าอุตสาหกรรม เพื่อสร้างทักษะเฉพาะทางให้นักศึกษาตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ

บริษัทที่จะขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการนี้ จะต้องสนับสนุนท้องถิ่นที่ดำเนินกิจการ: ด้านการเกษตรหรือบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม ผลิตภัณฑ์ชุมชน ท่องเที่ยวชุมชน สิ่งแวดล้อม การศึกษา หรือสาธารณสุข

ในส่วนของกลุ่มองค์กรท้องถิ่นที่สามารถรับการสนับสนุนจากบริษัทได้ตามมาตรการ ได้แก่ สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาของรัฐ สถานพยาบาลของรัฐ รวมถึงกรณีที่องค์กรท้องถิ่นร่วมมือกับสถาบันวิจัยหรือสถานศึกษาของรัฐก็สามารถรับการสนับสนุนได้เช่นกัน


โดยผู้ประกอบการสามารถติดต่อบีโอไอผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อสอบถามเกี่ยวกับเงื่อนไขการขอรับการส่งเสริม รวมถึงสิทธิประโยชน์ ที่จะได้รับ ซึ่ง “กองพัฒนาผู้ประกอบการไทย” https://www.facebook.com/BTEDBOI ถือเป็นหน่วยหลักจากบีโอไอที่คอยประสานงานและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการที่สนใจจะลงทุน และเป็นตัวเชื่อมโยงกับกลุ่มชุมชนท้องถิ่นให้ได้รับการสนับสนุนที่ตรงจุดมากขึ้นและทำให้โครงการพัฒนาชุมชนและสังคมสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

บีโอไอไม่เพียงแต่ช่วยสนับสนุนและเติมเต็มพลังให้ธุรกิจและชุมชน แต่ยังเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการนำแนวคิดมาต่อยอดสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เน้นความยั่งยืนเป็นหลักเพื่อโลกใบนี้ของพวกเราทุกคน



คุณสมบัติ เงื่อนไข สิทธิและประโยชน์สำหรับโครงการที่สามารถขอรับการส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม มีดังนี้

ตัวอย่างประเภทค่าใช้จ่ายที่สนับสนุน

- ค่าก่อสร้างโรงงาน

- ค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์

- ค่าฝึกอบรม

- ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่สำนักงานเห็นชอบ เป็นต้น

เงื่อนไขการสนับสนุนเพิ่มเติม

- สามารถสนับสนุนท้องถิ่นโดยตรง หรือ ดำเนินการผ่านสถาบันการศึกษา/สถาบันวิจัยของรัฐ

- ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 3 ปี นับจากวันออกบัตรส่งเสริม


ข้อมูลเพิ่มเติม :

ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 24/2565 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2565 เรื่อง มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง