ตามที่ Winston Churchill อดีตรัฐบุรุษแห่งอังกฤษ เคยกล่าวไว้ว่า “Never let a good crisis go to waste” เช่นเดียวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจให้ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และเทคโนโลยีดิจิทัลได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอได้เล็งเห็นโอกาสจากวิกฤตดังกล่าวจึงออก “มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล” ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 4/2564 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2564 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการองค์กรและการผลิตหรือการให้บริการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และเป็นการกระตุ้นอุปสงค์ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวและการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศ
“มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล” เป็นมาตรการด้านใหม่ล่าสุดภายใต้มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ ที่ให้การส่งเสริมแก่กิจการที่ดำเนินการอยู่เดิม ไม่ว่าจะเคยได้รับการส่งเสริมหรือไม่ก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการประสงค์จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ภายในองค์กร โดยไม่มีการลงทุนด้านเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ซึ่งผู้ประกอบการต้องนำเสนอแผนการดำเนินการอย่างน้อยกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังนี้
1. การนำซอฟต์แวร์ โปรแกรมหรือระบบสารสนเทศมาใช้ในระดับที่มีการเชื่อมโยงภายในองค์กรอย่างเป็นระบบ (INTEGRATED) และเชื่อมโยงภายนอกองค์กร (CONNECTED) บางส่วน หรือมีการเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอก โดยต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างน้อย 3 ฟังก์ชั่น มาใช้บริหารจัดการทรัพยากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือการให้บริการ
2. การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (ARTIFICIAL INTELLIGENCE หรือ AI) MACHINE LEARNING การนำ BIG DATA มาใช้หรือการวิเคราะห์ข้อมูล (DATA ANALYTICS)
3. การนำซอฟต์แวร์โปรแกรมหรือระบบสารสนเทศมาใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างระบบของบริษัทกับระบบออนไลน์ของภาครัฐ เช่น เชื่อมโยงกับระบบ NATIONAL E-PAYMENT เป็นต้น ตามที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ
กิจการที่เข้าข่ายขอรับการส่งเสริมตามมาตรการฯ
ผู้ประกอบการที่จะขอรับการส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ต้องดำเนินกิจการ ดังนี้
- ดำเนินกิจการในประเภทกิจการที่อยู่ในกลุ่มได้รับสิทธิและประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (ยกเว้นบางกิจการที่ต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลประกอบกิจการอยู่แล้วโดยสภาพ เช่น กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ กิจการ Cloud Service และกิจการนิคมหรือเขต Data Center เป็นต้น)
- กรณีนำโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนอยู่เดิมมาขอรับการส่งเสริมตามมาตรการนี้ สิทธิและประโยชน์การยกเว้นและลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องสิ้นสุดลงแล้ว
ทั้งนี้ ต้องดำเนินให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม รวมถึง ในกรณีที่ 1 และ 3 ต้องมีการลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายในการใช้ซอฟต์แวร์ โปรแกรมหรือระบบสารสนเทศ ที่พัฒนาหรือปรับปรุงโดยผู้ประกอบการในประเทศไทยซึ่งได้รับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เงื่อนไขการลงทุนขั้นต่ำ
ผู้ประกอบการที่จะขอรับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรการนี้ ต้องมีการลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน แต่หากกรณีเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต้องมีการลงทุนไม่น้อยกว่า 5 แสนบาท โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน
สิทธิและประโยชน์ที่จะได้รับ
ผู้ได้รับการส่งเสริมจะได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน ในการปรับปรุง โดยให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ของกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิม ซึ่งระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจะนับจากวันที่มีรายได้ภายหลังได้รับบัตรส่งเสริม
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจขอรับการส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สามารถยื่นขอรับการส่งเสริมได้ถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2565
(หมายเหตุ : รายละเอียดเพิ่มเติมโปรดดูประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 4/2564 เรื่อง มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ลงวันที่ 19 มีนาคม 2564 และคำชี้แจงที่เกี่ยวข้อง ได้ที่ www.boi.go.th)
การนับมูลค่าเงินลงทุนในการปรับปรุงเพื่อกำหนดวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
ตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
รูปแบบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล |
เงินลงทุน/ค่าใช้จ่าย |
นับเต็มจำนวน |
นับกึ่งหนึ่ง |
- กรณีการนำซอฟต์แวร์ โปรแกรมหรือระบบสารสนเทศมาใช้ในระดับที่มีการเชื่อมโยงภายในองค์กรอย่างเป็นระบบ (INTEGRATED) และเชื่อมโยงภายนอกองค์กร (CONNECTED) บางส่วน หรือมีการเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอก
- กรณีการนำซอฟต์แวร์โปรแกรมหรือระบบสารสนเทศมาใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างระบบของบริษัทกับระบบออนไลน์ของภาครัฐ เช่น เชื่อมโยงกับระบบ NATIONAL E-PAYMENT เป็นต้น ตามที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ |
1. เงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการใช้ซอฟต์แวร์ โปรแกรม |
||
- ผู้ประกอบการในประเทศไทยซึ่งได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
/ |
|
|
- ผู้ประกอบการในประเทศไทยซึ่งไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
|
/ |
|
- ผู้ประกอบการในต่างประเทศ |
|
/ |
|
2. ค่าใช้จ่ายในการเช่า/ใช้บริการ CLOUD หรือ DATA CENTER |
|||
- ที่ตั้งในประเทศไทย |
/ |
|
|
- ที่ตั้งในต่างประเทศ |
|
/ |
|
- กรณีการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (ARTIFICIAL INTELLIGENCE หรือ AI) MACHINE LEARNING การนำ BIG DATA มาใช้หรือการวิเคราะห์ข้อมูล (DATA ANALYTICS) |
1. เงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายใน - การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (ARTIFICIAL INTELLIGENCE หรือ AI) - MACHINE LEARNING - การนำ BIG DATA มาใช้ - การวิเคราะห์ข้อมูล (DATA ANALYTICS) |
/ |
|
2. ค่าใช้จ่ายในการเช่า/ใช้บริการ CLOUD หรือ DATA CENTER |
|||
- ที่ตั้งในประเทศไทย |
/ |
|
|
- ที่ตั้งในต่างประเทศ |
|
/ |