การกระตุ้นและส่งเสริมการลงทุนให้เกิดขึ้นภายในประเทศไทย ปัจจุบันมีทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ร่วมมือกันในการออกมาตรการและนโยบายต่างๆ เพื่อผลักดันและส่งเสริมให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุน
ตั้งโรงงานและฐานการผลิตในประเทศไทย
โดยมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ หน่วยงานสำคัญของภาครัฐที่กำกับดูแลการส่งเสริมการลงทุน มีภารกิจหลักในการชักจูงนักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติเพื่อมาลงทุนในประเทศ โดยในมาตรการที่บีโอไอประกาศนั้นจะมีสิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีอากรและด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นแรงจูงใจสำคัญในการตัดสินใจเข้ามาลงทุน ดังนั้น เพื่อให้ผู้สนใจลงทุนและผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มและขยายการลงทุนได้เข้าใจและเข้าถึงสิทธิประโยชน์บีโอไอ จึงได้รวบรวมสิทธิประโยชน์ที่น่าสนใจมาไว้ที่เดียว ดังนี้
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รายใหญ่ – SMEs – ฐานราก
1. สนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวด้วยมาตรการกระตุ้นลงทุน 2564
- สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี
- ต้องมีเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000 บ้านบาท ภายใน 12 เดือนหลังออกบัตรส่งเสริม (โดยมีเงื่อนไขไม่อนุญาตให้ขยายเวลาในขั้นตอนการตอบรับให้การส่งเสริมและการออกบัตรส่งเสริม)
- ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน ถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2564
2. เร่งช่วย SMEs ไทย ด้วยมาตรการส่งเสริม SMEs
2.1 ต้องเป็น SMEs ที่ถือหุ้นโดยบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย 51%
2.2 รายได้ของกิจการไม่เกิน 500 ล้านบาท ต่อปี ใน 3 ปีแรก
- ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร
- กิจการในกลุ่ม A ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 200% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน)
- ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน ถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2564
3. สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตด้วยมาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก
3.1 เพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพร่วมสนับสนุนองค์กรท้องถิ่น โดยต้องมีประเภทกิจการตามที่บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุน
3.2 เงินสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อราย
>> ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 2 กรณี
1) โครงการที่ดำเนินการอยู่แล้วไม่ว่าจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนหรือไม่ก็ตาม ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงิน 120% ของเงินสนับสนุน
2) โครงการที่ได้รับการส่งเสริมที่สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลยังไม่สิ้นสุดลง หรือโครงการใหม่ ได้รับเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 120% ของเงินสนับสนุน โดยต้องยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564
มาตรการส่งเสริมเทรนด์สุขภาพ รองรับสังคมสูงวัย ยุค Ageing Society
1. การส่งเสริมการลงทุนกิจการบริการดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุ อนุมัติเปิด 2 กิจการใหม่
- กิจการโรงพยาบาลผู้สูงอายุได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี
- กิจการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี
2. การส่งเสริมการลงทุนกิจการวิจัยทางคลินิก ครอบคลุม 2 กิจการย่อย
- กิจการสนับสนุนและบริหารจัดการการวิจัยทางคลินิก
- ศูนย์การวิจัยทางคลินิก
- ทั้ง 2 กิจการย่อยได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (ไม่จำกัดวงเงิน)
3. เพิ่มเขตส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์ ม.บูรพา (บางแสน) ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับ EECa/EECi/Eecd/EECmd
- กิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-8 ปี ได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อยภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% อีก 2 ปี
- กิจการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมายและกิจการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมายได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 1 ปี
มาตรการปรับตัวรับ Disruptive Technology นำดิจิทัลหรือเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้
1. สนับสนุน EV เพื่อโลกสะอาด การส่งเสรมการลงทุนการผลิตยานพาหนะไฟฟ้ารอบใหม่ (EV)
• รถยนต์ไฟฟ้า โดยจะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV เป็นอย่างน้อย โดยมีกรณีเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท และเงินลงทุนน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท
- BEV กรณีเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้
นิติบุคคล 8 ปี หรือสูงสุด 11 ปี (ตลอดโครงการ) หากมีการทำ R&D และกรณีเงินลงทุนน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี หรือสูงสุด 11 ปี (ตลอดโครงการ) หากดำเนินการตามเกณฑ์ที่กำหนด
- PHEV รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี
- HEV ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
2. รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี หรือสูงสุด 11 ปี (ตลอดโครงการ) หากดำเนินการตามเกณฑ์ที่กำหนด
3. เรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า รับสิทธิประโยขน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
มาตรการรองรับการใช้ดิจิทัลเสริมธุรกิจ
เพื่อเพิ่มการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ
- เป็นกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิม ไม่ว่าจะเคยได้รับการส่งเสริมหรือไม่ก็ตาม
- ต้องเป็นกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
- ลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท หรือ 500,000 บาท สำหรับ SMEs (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน)
- ต้องเสนอแผนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนด้านเครื่องจักร หรือ อุปกรณ์
- ได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ของเงินที่ใช้ปรับปรุงเป็นเวลา 3 ปี
- ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน ถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2565
แน่นอนว่าสิทธิประโยชน์จากบีโอไอที่น่าสนใจเหล่านี้จะสามารถช่วยกระตุ้นและดึงดูดนักลงทุนในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมให้เข้ามาลงทุน สร้างฐานการผลิตและบริการในประเทศไทย อันจะต่อยอดสู่การเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม การเพิ่มรายได้ของประชาชน และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ผู้ประกอบการ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://www.boi.go.th หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการลงทุน โทรศัพท์ 0 2553 8111
ข้อมูลจาก: https://www.boi.go.th/upload/content/boi%20enewsJan2021.pdf