“อุตสาหกรรมอวกาศ” กลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทย

August 07,2023

“อุตสาหกรรมอวกาศ” กลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทย

“อุตสาหกรรมอวกาศ” ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับโลกของเรา
นับตั้งแต่ดาวเทียมดวงแรกของโลกถูกส่งขึ้นไปสู่ห้วงอวกาศ ก็ผ่านมาประมาณ 60 กว่าปีแล้ว และด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ก็ยิ่งช่วยเร่งให้อุตสาหกรรมอวกาศในปัจจุบันเติบโตอย่างรวดเร็ว จนเกิดบริษัทใหม่ ๆ ที่ทำธุรกิจด้านอวกาศขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเอง ก็มี Startup ไทยที่บุกอวกาศด้วยเช่นกัน

อุตสาหกรรมอวกาศใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกวัน เนื่องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี
ตั้งแต่เทคโนโลยีการส่งผ่านข้อมูล อินเทอร์เน็ต ระบบนำทางในรถยนต์หรือโทรศัพท์ การรายงานข้อมูลสภาพอากาศ ไปจนถึงข้อมูลด้านการเกษตร ที่ช่วยตอบโจทย์การใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน

จากข้อมูลของมอร์แกน สแตนลีย์ ประมาณการว่าภายในปี 2040 มูลค่าของธุรกิจอวกาศโดยรวมอาจสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท !!
มาร่วมสำรวจ 5 ธุรกิจที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศยุคใหม่

1. ธุรกิจดาวเทียมขนาดเล็ก
ดาวเทียมขนาดเล็ก มีคุณสมบัติโดดเด่นด้านการสื่อสารแบบไร้สาย จำพวกระบบ GPS ซึ่งบริษัทต่าง ๆ มีความพยายามที่จะผลิตและพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพและมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากขึ้นพร้อมกับการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งธุรกิจนี้จะช่วยหนุนธุรกิจบริการนำส่งดาวเทียมที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการปล่อยจรวดและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เติบโตขึ้นควบคู่กันไป

2. ธุรกิจระบบการจัดการบนอวกาศ
ปัจจุบันมีการส่งวัตถุต่าง ๆ ขึ้นไปยังอวกาศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจกลายเป็นขยะอวกาศในที่สุด จึงจำเป็นต้องมีระบบการจัดการขยะบนอวกาศเพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น
• ระบบการจัดการขยะอวกาศ (Debris Management) ที่มีการติดตามและควบคุมวัตถุอวกาศที่ถูกทิ้งหรือหมดสภาพ ให้ได้รับการจัดการที่ถูกต้องและปลอดภัย
• ระบบการจัดการจราจรอวกาศ (Space Traffic) ที่ช่วยในการกำหนดเส้นทางและการเคลื่อนไหวของวัตถุอวกาศ เพื่อลดความเสี่ยงในการชนกันระหว่างวัตถุในอวกาศ

3. ธุรกิจคิดค้นนวัตกรรมอุปกรณ์สื่อสารขั้นสูง
ปัจจุบันมีการพัฒนาระบบการสื่อสารขั้นสูง โดยนำเสาอากาศความจุสูง (High-capacity Antennas) มาใช้เพิ่มเติมกับระบบเดิม ทำให้การรับส่งสัญญาณมีความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น โดยระบบการสื่อสารนี้ใช้ดาวเทียมในชั้น LEO (Low Earth Orbit) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการับส่งสัญญาณให้มีความเสถียรยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ดาวเทียมในวงโคจรต่ำหรือ LEO Satellite ไม่ได้เคลื่อนที่ไปตามเส้นทางเดียวกันรอบโลกเสมอไป แต่มีความอิสระในการเลือกเส้นทางมากขึ้น ซึ่งทำให้มีเส้นทางมากขึ้นสำหรับดาวเทียมในระดับ LEO นั่นเอง ผลของสิ่งนี้ก็ทำให้ต้องมีการพัฒนาวิธีการจัดการและเทคนิคในการดูแลดาวเทียม เพื่อป้องกันการชนกันและรองรับการสื่อสารและการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ

4. ธุรกิจการท่องเที่ยวในอวกาศ
สำหรับคนทั่วไปที่สนใจเดินทางไปสำรวจอวกาศและสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอวกาศเป็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งได้รับการพัฒนาไปไกลในหลายประเทศแล้ว เช่น โครงการ dearMoon ซึ่งเป็นทริปโคจรรอบดวงจันทร์โดย SpaceX ของ Elon Musk

โดยรูปแบบการบินเข้าสู่อวกาศแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 'Orbital Flight' และ 'Suborbital Flight'
>> Orbital Flight คือการบินไปในอวกาศรอบโลก ซึ่งเป็นความเร็วที่จำเป็นต้องใช้เมื่ออยู่ในวงโคจรรอบโลก เพื่อไม่ให้ตกกลับสู่โลก
>> Suborbital Flight คือการบินขึ้นไปแบบตรง ๆ เหมือนการกระโดดขึ้นสู่อวกาศ และใช้ความเร็วที่ต่ำกว่า Orbital Flight

ปัจจุบันธุรกิจการท่องเที่ยวในอวกาศได้รับความสนใจจากบริษัทท่องเที่ยวอวกาศเอกชน โดยบริษัทรายสำคัญที่มีธุรกิจการบินรูปแบบ Suborbital Flight อาทิ Blue Origin ของ Jeff Bezos (ผู้ก่อตั้ง Amazon) และ Virgin Galactic ของ Richard Branson ในขณะที่บริษัทที่มีธุรกิจการบินรูปแบบ Orbital Flight โดยเป็นการบินเต็มรูปแบบครั้งแรกที่มีระยะไกลถึง 120 ไมล์ ก็คือ SpaceX นั่นเอง

5. เทคโนโลยีอวกาศเพื่อจัดการ “Climate Change”
ปัจจุบันมีหลายประเทศที่นำเทคโนโลยีอวกาศมาประยุกต์ใช้ในหลายด้านเพื่อจัดการเรื่อง Climate Change เช่น การตรวจวัดและติดตามก๊าซเรือนกระจก นอกจากนั้น ยังนำเทคโนโลยีมาใช้เฝ้าระวังผลกระทบจาก Climate Change ทั้งการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ภัยจากแผ่นดินทรุดตัว ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง PM 2.5 และการเตือนภัยไฟป่า
โดยมีการนำเทคโนโลยีอวกาศมาใช้ในการสร้างข้อมูลเชิงพื้นที่และแสดงตำแหน่งของปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้องค์กรที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งานและหาวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

รายงานปี 2565 จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ระบุว่า ประเทศไทยมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกว่า 35,600 กิจการ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 56,000 ล้านบาทต่อปี จึงเป็นการสะท้อนว่าอุตสาหกรรมนี้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทยได้อีกมากในอนาคต

ปัจจุบัน บีโอไอมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมอากาศยานและอวกาศ เพื่อช่วยสร้างโอกาสและความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการทั้งในด้านการนำเข้าวัตถุดิบและการยกเว้นภาษี เพื่อลดต้นทุน รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะด้านแรงงานทักษะสูง ซึ่งส่งผลต่อโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมอากาศยานและอวกาศไทย และยังเอื้อต่อการสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงภายในประเทศอีกด้วย
..........................

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง