การใช้สิทธิและประโยชน์บีโอไอด้านการพิจารณาอนุญาตผู้ชำนาญการต่างประเทศ

June 20,2022

การใช้สิทธิและประโยชน์บีโอไอด้านการพิจารณาอนุญาตผู้ชำนาญการต่างประเทศ

ตาม พรบ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 กำหนดเกี่ยวกับการนำเข้าช่างผู้ชำนาญการต่างชาติ กรณีได้รับบัตรส่งเสริมแล้ว (มาตรา 25 และมาตรา 26)
ให้ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวที่มีทักษะ ได้แก่ ช่างฝีมือ ผู้ชำนาญการ รวมถึงคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะของช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการ
ดังนั้น ในการใช้สิทธิประโยชน์การนำเข้าช่างฝีมือต่างด้าวเข้ามาทำงานในราชอาณาจักร คณะกรรมการจึงจะกำหนดตำแหน่งหน้าที่การงานของคนต่างด้าว ตลอดจนจำนวน และระยะเวลาที่จะอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงาน ให้สอดคล้องกับความจำเป็นของแต่ละโครงการเป็นกรณี ๆ ไป แม้ว่าจะเกินอัตราจำนวนหรือระยะเวลา ให้อยู่ในราชอาณาจักรตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
ขั้นตอนการขอคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในกิจการ BOI

1. การขอวีซ่าเข้าประเทศไทย ช่างฝีมือที่จะเดินทางมาปฏิบัติงานในประเทศไทย จะต้องเดินทางเข้าประเทศโดยใช้วีซ่า Non-B มีรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
    - จะต้องขอวีซ่าจากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในประเทศที่ตนมีถิ่นพำนัก ก่อนจะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ช่างฝีมือจะต้องเดินทางเข้ามาโดยใช้วีซ่า Non-B ส่วนครอบครัวของช่างฝีมือ จะต้องเดินทางเข้ามาด้วยวีซ่า Non-O
    - กรณีที่เดินทางเข้ามาโดย Tourist Visa (TR60) หรือ Transit Visa (TS30) จะต้องทำหนังสือถึง BOI เพื่อให้ออกหนังสือขอเปลี่ยนวีซ่าเป็น Non-B หรือ Non-O ได้ที่กองกำกับการ 3 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1
    - กรณีเดินทางเข้ามาโดยประทับตรา ผ 30 หรือ ผผ 90 จะต้องเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อยื่นขอวีซ่า Non-B, Non-O หรือ TR, TS จากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ โดยสามารถขอหนังสือขอความร่วมมือจาก BOI เพื่อประกอบการยื่นขอประทับตราวีซ่าด้วยก็ได้
    - กรณีประเทศที่ช่างต่างชาติมีถิ่นพำนัก ไม่มีสถานทูตหรือสถานกงสุลไทย สามารถขอวีซ่าจากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในประเทศอื่นที่มีพื้นที่ดูแลครอบคลุมประเทศที่ช่างต่างชาติมีถิ่นพำนัก

2. การขออนุมัติตำแหน่ง (การขอนำเข้าช่างฝีมือ/ผู้ชำนาญการต่างประเทศ) และการขอบรรจุตัวบุคคล
ต้องยื่นคำขออนุมัติตำแหน่งหน้าที่ก่อน เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว จึงยื่นเรื่องขอบรรจุช่างฝีมือ/ผู้ชำนาญการต่างชาติในตำแหน่งที่ได้รับอนุมัติแล้ว มีรายละเอียดดังนี้
    2.1 การขออนุมัติตำแหน่ง
         - ผู้ได้รับส่งเสริมจะต้องชี้แจงขอบเขตความรับผิดชอบ จำนวน ระยะเวลา และความจำเป็นของแต่ละตำแหน่งต่อ BOI โดยละเอียด
         - ตำแหน่งที่จะขออนุมัติสำหรับช่างฝีมือ/ผู้ชำนาญการต่างชาติ ต้องมีความชัดเจน โดยชื่อตำแหน่งต้องบอกลักษณะงาน และระดับการบังคับบัญชาในองค์กรนั้นได้ *** เหตุผลและความจำเป็นในการขออนุมัติตำแหน่งหน้าที่นั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณาของกลุ่มผู้ชำนาญการต่างประเทศว่าจะอนุมัติให้หรือไม่
    2.2 การขอบรรจุตัวบุคคล
เมื่อได้รับอนุมัติตำแหน่งแล้ว ผู้ได้รับส่งเสริมสามารถยื่นคำร้องต่อ BOI เพื่อขอบรรจุช่างฝีมือ ต่างด้าวในแต่ละตำแหน่ง ทั้งนี้ ช่างฝีมือ/ผู้ชำนาญการต่างชาติต้องได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-B และเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว โดยช่างฝีมือต่างด้าวผู้นั้นจะต้องมีคุณวุฒิและประสบการณ์ทำงานที่สอดคล้องกับตำแหน่งที่ได้รับอนุมัตินั้น ๆ
3. การขออนุญาตอยู่ต่อไปในราชอาณาจักร (ต่อวีซ่า)
เมื่อได้รับอนุมัติให้บรรจุช่างฝีมือในตำแหน่งที่ได้รับอนุมัติจาก BOI แล้ว ช่างฝีมือสามารถยื่นต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อขอขยายเวลาการอยู่ในราชอาณาจักรตามระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติจาก BOI ก่อนวีซ่าและใบอนุญาตทำงานเดิมสิ้นสุด
4. การขอใบอนุญาตทำงาน
เมื่อได้รับอนุมัติให้บรรจุช่างฝีมือในตำแหน่งที่ได้รับอนุมัติจาก BOI แล้ว ช่างฝีมือสามารถยื่นเรื่องต่อกรมการจัดหางาน หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด เพื่อขอใบอนุญาตทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับอนุมัติจาก BOI ได้

....................................................................................