การขออนุญาตทำงานของชาวต่างชาติในประเทศไทยทำให้ถูกต้อง ป้องกันผลเสียต่อผู้ประกอบการ
การดำเนินการกิจการทั้งประเภทบริษัท โรงงานอุตสาหกรรม และองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างมีการนำเอาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาใช้ประกอบการดำเนินการธุรกิจ เพื่ออำนวยความสะดวก ลดขั้นตอน ลดต้นทุนการผลิต และเร่งการเพิ่มผลผลิต ตลอดจนการอำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการในประเภทงานบริการต่างๆ
ทั้งนี้ ในการนำเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้นั้นต้องมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ เนื่องจากเครื่องมือบางประเภทยังไม่สามารถผลิตได้ในประเทศไทย ดังนั้นเมื่อมีการนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์เข้ามาจึงย่อมจำเป็นต้องมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากต่างประเทศมาเป็นผู้ดูแลและแนะนำวิธีการใช้งาน รวมถึงการถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวกับเครื่องมือและอุปกรณ์เหล่านั้นให้กับบุคลากรคนไทยได้รับช่วงในการปฏิบัติงานและดูแลรักษาต่อไปได้
การนำเข้าชาวต่างชาติมาปฏิบัติงานในประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการให้ถูกต้องและถูกกฎหมาย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทราบถึงขั้นตอนการขออนุญาตทำงานและกฎหมายที่เกี่ยวข้องของชาวต่างชาติในประเทศไทย เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างถูกกฎหมาย
สำหรับชาวต่างชาติที่ประสงค์จะเข้ามาประกอบธุรกิจหรือทำงานในประเทศไทย จะต้องดำเนินการขั้นตอนในการขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) พร้อมการจัดเตรียมเอกสารหลักฐานให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่สอดคล้องกับพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และจะต้องดำเนินการยื่นคำขอเพื่อมีถิ่นที่อยูในราชอาณาจักรต่อคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ยึดเป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติ
การขอใบอนุญาตทำงานและขยายระยะเวลาอยู่ในราชอาณาจักร (Visa work Permit in Thailand) ช่างฝีมือ/ผู้ชำนาญการชาวต่างชาติที่ประสงค์จะทำงานภายใต้สิทธิประโยชน์ของ BOI จะต้องเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant Visa) สำหรับการติดต่อหรือประกอบธุรกิจและการทำงาน หรือสำหรับการลงทุน หรือการอื่นภายใต้ข้อบังคับกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการ ลงทุน โดยคนต่างด้าวจะต้องให้นายจ้าง/สถานประกอบการ ยื่นขออนุญาตจาก BOI เพื่อให้ช่างฝีมือต่างชาติดังกล่าวเข้ามาเพื่อปฏิบัติงาน และเมื่อได้รับอนุมัติแล้ว จึงยื่นคำร้องต่อสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน เพื่อการขอรับใบอนุญาตทำงาน และยื่นคำร้องต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อขออนุญาตขยายเวลาการอยู่ต่อในราชอาณาจักร ซึ่งต้องดำเนินการดังนี้ 1) การยื่นขอใบอนุญาตทำงานและขยายระยะเวลาใบอนุญาตทำงาน 2) การขออนุญาตเพื่ออยู่ต่อไปในราชอาณาจักรของช่างฝีมือต่างด้าวและครอบครัวสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
แต่หากชาวต่างชาติที่ดำเนินการขอวีซ่า Non-Immigrant Visa มาแล้วแต่ยังไม่ได้ยื่นขอใบอนุญาตทำงาน
สามารถยื่นขอได้ที่กรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ภายในระยะเวลา 90 วัน หลังจากที่ได้เดินทางถึงประเทศไทยแล้วตามกฎหมายที่ให้พำนักอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราว
ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ต้องการนำช่างฝีมือ/ผู้ชำนาญการชาวต่างชาติเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทย
จึงจำเป็นที่ต้องทราบข้อกำหนดและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตทำงานสำหรับชาวต่างชาติที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันมากที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันกรณีปัญหาชาวต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานหรือไม่ได้อนุญาตให้ขยายระยะเวลาทำงานต่อในประเทศ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ
สมาคมสโมสรนักลงทุนให้ความสำคัญในขั้นตอนการขออนุญาตนำเข้าช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการชาวต่างชาติ สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 2666 9449 กด 3
............................................