แนวทางการใช้สิทธิประโยชน์นำเข้าช่างฝีมือ/ ผู้ชำนาญการต่างชาติ ตามมาตรา 24

October 18,2022

แนวทางการใช้สิทธิประโยชน์นำเข้าช่างฝีมือ/ ผู้ชำนาญการต่างชาติ ตามมาตรา 24

1. กรณีอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาเพื่อศึกษาทางการลงทุน
   1) เป็นกิจการที่อยู่ในข่ายได้รับการส่งเสริม หรือกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศตามที่สำนักงานฯ เห็นชอบ และ
   2) มีหลักฐานการติดต่อในเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนจากหน่วยงานหรือสถาบันที่เชื่อถือได้ในประเทศ หรือต่างประเทศ และ
   3) มีแผนการดำเนินการในการศึกษาลู่ทางการลงทุน
   4) โดยจะอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 6 เดือน
   5) ระยะเวลาดำเนินการ ภายใน 10 - 15 วันทำการ
   6) ไม่อนุญาตให้ผู้ติดตามคนต่างด้าว

2. กรณีอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาเพื่อกระทำการที่จะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุน
   1) เป็นกิจการที่อยู่ในข่ายได้รับการส่งเสริม หรือกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศตามที่สำนักงานฯ เห็นชอบ หรือ
   2) เป็นผู้แทนของหอการค้า หรือส่วนราชการ หรือรัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการ ลงทุนที่เดินทางเข้ามาเพื่อให้คำแนะนำหรือประสานงานด้านการค้าและการลงทุน
   3) โดยจะอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 1 ปี
   4) ระยะเวลาดำเนินการ ภายใน 10 - 15 วันทำการ
   5) ไม่อนุญาตให้ผู้ติดตามคนต่างด้าว

3. กรณีอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาปฏิบัติงานในกิจการที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาให้รับการส่งเสริม หรือ อยู่ระหว่างรอรับบัตรส่งเสริมการลงทุน
   1) เป็นโครงการที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาให้การส่งเสริม หรือได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมแล้วแต่อยู่ระหว่างรอรับบัตรส่งเสริม
   2) เป็นกรณีขอนำเข้าเฉพาะตัวช่างฝีมือ/ผู้ชำนาญการต่างชาติเท่านั้น และคนต่างด้าวที่จะขอนำเข้ามาปฏิบัติงาน ต้องมีตำแหน่งหน้าที่ที่สอดคล้องกับสถานภาพของบริษัทในขณะนั้น
   3) เอกสารที่ใช้ในการยื่นเรื่องกรณีต่าง ๆ ศึกษาได้จาก “ใบตรวจเอกสารของงานช่างฝีมือตามมาตรา 24 (F FR TR 09)"
   4) “หนังสือบริษัทแจ้งความประสงค์พร้อมรายละเอียด” ที่ต้องแนบประกอบการพิจารณา ประกอบด้วย
         - รายละเอียดการขอรับการส่งเสริม (วันที่ยื่นเรื่อง เลขที่และวันที่ใบตอบรับคําขอรับ การส่งเสริม วันที่ชี้แจงโครงการ รวมถึงเลขที่และวันที่หนังสือแจ้งมติให้การส่งเสริม)
         - ขณะยื่นเรื่อง บริษัทกำลังดำเนินการในขั้นตอนใด
         - ความจําเป็นและเหตุผลที่ต้องยื่นเรื่องนี้
         - ตราของวีซ่าในหนังสือเดินทางของช่างฝีมือ/ผู้ชำนาญการต้องเป็น Non-Immigrant รหัส B หรือ IB หรือ O (Thai Spouse) หรือ วีซ่าอื่นตามที่กำหนด

4. กรณีการนำคนต่างด้าวเข้ามาปฏิบัติงานในหอการค้าต่างประเทศ
    1) จะพิจารณาให้แก่ผู้บริหารระดับสูง เช่น Executive Director, Secretary General เป็นต้น หรือ ตำแหน่งงานที่เข้ามาเพื่อประสานงานด้านการค้าการลงทุน และจะอนุญาตให้ปฏิบัติงานในหอการค้าฯ ผู้ขอเท่านั้น โดยจะไม่อนุญาตให้ไปปฏิบัติงานในกิจการอื่น
    2) ในส่วนของ Staff ในตำแหน่งอื่น ๆ ซึ่งเป็นงานสนับสนุน เช่น งานเลขานุการ งานล่าม งานธุรการ การฝึกงานจะไม่พิจารณาให้ หากต้องการสามารถขอใช้สิทธิโดยตรงกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมการจัดหางาน
    3) ให้พิจารณาการอยู่ในประเทศคราวละ 1 ปี
    4) ระยะเวลาดำเนินการ ภายใน 10 - 15 วันทำการ
    5) ไม่อนุญาตให้ผู้ติดตามคนต่างด้าว

5. กรณีอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการอยู่ในราชอาณาจักรของคนต่างด้าว
    1) กรณีที่ 1 โครงการมีความคืบหน้าและมีความเป็นไปได้ที่จะมีการลงทุนในประเทศ
    2) กรณีที่ 2 บริษัทมีผลประกอบการดี หรือมีแนวโน้มจะขยายการลงทุนต่อไป หรือมีผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง (กรณีหอการค้าต่างปะเทศ จะต้องมีการยืนยันเพื่อให้บุคคลปฏิบัติงานต่อ)
    3) กรณีที่ 3 จะต้องแสดงความคืบหน้าของโครงการ เช่น ถ้ายังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมต้องดูว่าโครงการ ยังไม่สิ้นสุด หรือมีการขยายเวลาตอบรับมติ หรือมีการขยายระยะเวลาการยื่นเอกสาร
    4) กรณีที่ 1 จะอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้คราวละไม่เกิน 6 เดือนแต่รวมแล้วไม่เกิน 1 ปี
    5) กรณีที่ 2 จะอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้คราวละไม่เกิน 1 ปี
    6) กรณีที่ 3 จะอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้คราวละไม่เกิน 6 เดือน
    7) ระยะเวลาดำเนินการภายใน 10 - 15 วันทำการ

6. กรณีการใช้สิทธิช่างฝีมือในกิจการที่มีขอบข่ายนอกธุรกิจนอกเหนือไปจากเงื่อนไขในบัตรส่งเสริมซึ่งไม่สามารถตรวจสอบหรือแยกได้ว่าส่วนขยายใดได้รับส่งเสริมหรือไม่ได้รับส่งเสริม เช่น กรณีโรงแรมเพิ่มห้องพัก กิจการผลิตเพิ่มกำลังการผลิต กิจการขนส่งทางอากาศมี    อากาศยานที่ได้รับส่งเสริมและไม่ได้รับส่งเสริม เป็นต้น
   1) ให้พิจารณาการใช้สิทธิประโยชน์ด้านช่างฝีมือฯ ตามกำลังการผลิตหรือขอบข่ายกิจการที่ได้รับตามบัตรส่งเสริมการลงทุน
   2) ระยะเวลา ดำเนินการภายใน 10 - 15 วันทำการ
...........................