เมื่อกฎใหม่ของโลกธุรกิจไม่ได้วัดแค่กำไร แต่เป็น "คาร์บอนฟุตพรินต์"
ในอดีต “ต้นทุน” อาจเป็นจุดวัดกำไร
แต่จากนี้ต่อไป- ตัวเลขคาร์บอนอาจกลายเป็น “ตัวชี้วัดอนาคตธุรกิจ”
ในโลกที่กำลังวัดความยั่งยืนจากทุกมุม เพื่อรับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
ธุรกิจที่ยังไม่เริ่มนับคาร์บอน อาจกำลังนับถอยหลังจากโอกาสสำคัญ
โลกธุรกิจเริ่มตั้งคำถามใหม่
> สินค้าของคุณปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่?
> โรงงานของคุณจัดการพลังงานดีแค่ไหน?
> และคุณอยู่ในซัพพลายเชนที่มีมาตรฐาน Scope 1-2-3” หรือยัง?
นี่คือ “กติกาใหม่ของธุรกิจ” ที่กำลังเกิดขึ้น
คาร์บอนฟุตพรินต์ ไม่ใช่แค่ศัพท์เทคนิคอีกต่อไป
แต่กำลังกลายเป็น ตัวชี้วัดความพร้อม สำหรับเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ และโอกาสที่เปิดกว้างในซัพพลายเชนระดับโลก
*คาร์บอนฟุตพรินต์ คืออะไร?
คาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) คือ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ที่เกิดจากกิจกรรมทั้งหมดของธุรกิจ ตั้งแต่กระบวนการผลิต วัสดุขาเข้า การขนส่ง ไปจนถึงการใช้งานของสินค้าและบริการ
ก๊าซเรือนกระจกที่พบบ่อย อย่างเช่น:
> ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) จากการเผาไหม้เชื้อเพลิง
> ก๊าซมีเทน (CH₄) จากปศุสัตว์และหลุมฝังกลบ
> ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N₂O) จากภาคเกษตร
> กลุ่มก๊าซฟลูออรีน (F-gases) จากอุตสาหกรรมและเครื่องทำความเย็น
เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) เป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นมากที่สุด จึงมักใช้เป็นตัวแทนในการวัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และนำมากำหนดมาตรฐานการวัดคาร์บอนฟุตพรินต์โดยการใช้หน่วย ‘คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า’ (CO₂e) เพื่อให้เข้าใจง่ายและเปรียบเทียบกันได้ในมาตรฐานเดียว
ทำไมธุรกิจควรรู้จัก “คาร์บอนฟุตพรินต์” ให้เร็วที่สุด?
1. วางแผนลดคาร์บอนได้แม่นยำ พร้อมลดต้นทุน
เมื่อธุรกิจรู้ว่ากระบวนการใดปล่อยคาร์บอนสูง ก็สามารถวางแผนลดได้อย่างแม่นยำ เช่น เปลี่ยนมาใช้ LED ใช้วัสดุรีไซเคิล หรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
2. เพิ่มโอกาสเข้าถึงเงินทุนและลูกค้าใหม่
ธุรกิจที่เปิดเผยข้อมูลคาร์บอน จะถูกมองว่าโปร่งใส น่าเชื่อถือ และสามารถเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเงินทุน และลูกค้าใหม่ ๆ
> เข้าถึง Green Loan / ESG Loan จากธนาคารไทยและต่างประเทศ
> ดึงดูดนักลงทุนสถาบัน (Institutional Investor) หน่วยงานที่สนใจพร้อมลงทุนในธุรกิจระยะยาว เช่น กองทุนรวม หรือ สถาบันการเงินที่ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ด้าน ESG
> ใช้ข้อมูลคาร์บอนเป็น “แต้มต่อ” ในการเจรจากับคู่ค้าระดับโลก
3. เตรียมพร้อมรับกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด
มาตรการจากต่างประเทศ เช่น Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรป ที่เริ่มบังคับใช้กับสินค้านำเข้าบางรายการต้องแสดงข้อมูลคาร์บอน รวมถึงข้อกำหนดในไทย เช่น ร่าง พ.ร.บ. Climate Change ที่เตรียมบังคับใช้ทั่วทั้งภาคธุรกิจ
แล้วจะวัดคาร์บอนอย่างไร?
ธุรกิจโดยทั่วไปนิยมวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ใน 2 ระดับ ได้แก่ ระดับผลิตภัณฑ์ และระดับองค์กร
1) ระดับผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product: CFP)
วัดคาร์บอน “ตลอดวงจรชีวิตของสินค้า”
ตั้งแต่ →การจัดหาวัตถุดิบ →การผลิต → การขนส่ง →การใช้งาน → การกำจัดหลังหมดอายุการใช้งาน
ช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้จากข้อมูลจริง
2) ระดับองค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO)
วัดการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมทั้งหมดในองค์กร แบ่งเป็น 3 ขอบเขต
> Scope 1: การปล่อยก๊าซจากกิจกรรมของบริษัทโดยตรง เช่น การเผาไหม้ในโรงงาน/การใช้ยานพาหนะของบริษัท
> Scope 2: การปล่อยอ้อมจากการใช้ไฟ/พลังงาน เช่น การใช้ไฟฟ้าในสำนักงาน ความร้อน/แอร์
> Scope 3: การปล่อยจากซัพพลายเชน เช่น การจัดหาวัตถุดิบ/การขนส่งวัตถุดิบ
บริษัทชั้นนำของโลก เช่น Apple, Unilever, IKEA เริ่มขอข้อมูล Scope 1–3 Carbon Footprint จากคู่ค้าทุกราย เพื่อคัดเลือกซัพพลายเออร์ที่มีความยั่งยืนจริง ไม่ใช่แค่การทำ CSR
บีโอไอ พร้อมผลักดันธุรกิจไทยสู่มาตรฐานใหม่ของโลก
บีโอไอ พร้อมเป็นแรงขับเคลื่อนให้ “ธุรกิจไทย” ปรับตัวได้จริง ผ่านการส่งเสริม อุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green Economy)
* ในปี 2567 ที่ผ่านมา บีโอไอได้อนุมัติโครงการ BCG แล้วถึง 939 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 230,000 ล้านบาท
* ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2561–2567) มีทั้งหมด 5,380 โครงการ BCG รวมมูลค่า 1.15 ล้านล้านบาท ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ
โครงการเหล่านี้ครอบคลุมทั้งการแปรรูปอาหาร พลังงานสะอาด เทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวมวล และการรีไซเคิล
ยกระดับมาตรการให้ตอบโจทย์โลกยุค “คาร์บอนเป็นตัวชี้วัด”
> Sustainable Aviation Fuel (SAF) - ส่งเสริมการลงทุนในเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน เพื่อลดการปล่อยก๊าซจากภาคการบิน
> Bio Hub - สนับสนุนการตั้งศูนย์แปรรูปวัตถุดิบเกษตรในระดับภูมิภาค ลดการกระจุกตัว ลดการขนส่ง
> Smart & Sustainable Industry – มาตรการยกระดับอุตสาหกรรม เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ช่วยให้กิจการที่มีอยู่เดิมสามารถ “อัปเกรดสายการผลิตทั้งด้านการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในกิจการ (ไม่รวมการติดตั้ง Solar Cell) การจัดการของเสีย ยกระดับสู่มาตรฐานสากลเพื่อให้ธุรกิจไทยเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจที่โลกกำลังวางมาตรฐานใหม่ได้จริง