ทำไม? ความยั่งยืนถึงคุ้มค่า แม้ต้องมีต้นทุนที่จ่ายแพง
คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมบริษัทชั้นนำทั่วโลกถึงยอมลงทุนมหาศาลในแนวทางความยั่งยืน ทั้งที่ต้องรับมือกับต้นทุนที่สูงขึ้น
ในโลกธุรกิจปัจจุบัน ความยั่งยืนกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่เพียงแต่สร้างภาพลักษณ์ที่ดี แต่ยังส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันและเส้นทางของธุรกิจในระยะยาว หลายบริษัทชั้นนำทั่วโลกยังคงยินดีลงทุนในแนวทางนี้ เพราะผลตอบแทนที่ได้รับนั้นคุ้มค่าเกินกว่าที่คิด
5 เหตุผลว่าทำไมความยั่งยืนถึงคุ้มค่า
1. ผู้บริโภคพร้อมจ่ายแพงขึ้น เพื่อโลกที่ดีกว่า
ผลสำรวจล่าสุดจาก Bain & Company ในปีที่ผ่านมาเผยว่า 64% ของผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และ 12% พร้อมจ่ายเพิ่มเพื่อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ตัวเลขที่น่าสนใจจาก Harvard Business Review ยืนยันทิศทางเดียวกันว่า ผลิตภัณฑ์ที่สื่อสารจุดยืนด้านความยั่งยืนบนบรรจุภัณฑ์สร้างยอดขายได้ถึง 114 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 และเติบโตเร็วกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไปถึง 5 เท่า ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมาก ไม่เพียงแต่สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ส่งเสริมความสำเร็จทางธุรกิจในระยะยาว
2. การลงทุนที่ราคาแพงในวันนี้ เป็นการประหยัดในวันข้างหน้า
แม้การนำเทคโนโลยีใหม่ เช่น ระบบพลังงานสะอาด การรีไซเคิล หรือการจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ มาใช้ในธุรกิจ จะมีต้นทุนเริ่มต้นที่สูง ไม่ว่าจะเป็นค่าอุปกรณ์ การฝึกอบรมพนักงาน หรือการปรับปรุงโรงงาน แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับคุ้มค่าในระยะยาว
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ จากรายงานของ Forbes ระบุว่า การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์สามารถคืนทุนได้ภายใน 6-10 ปี ขึ้นอยู่กับขนาดโครงการและนโยบายสนับสนุนในแต่ละประเทศ การลงทุนในแนวทางความยั่งยืน ทั้งการใช้พลังงานสะอาดและการลดการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลือง ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน แต่ยังสร้างความมั่นคงและความได้เปรียบในการแข่งขันสำหรับธุรกิจในอนาคตอีกด้วย
3. เพิ่มโอกาสการเข้าถึงเงินทุนและการสนับสนุน
สถาบันการเงินต่าง ๆ และนักลงทุนหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจที่มีแนวทางความยั่งยืนมากขึ้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ร่วมกันจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจที่ยั่งยืน
4. กฎระเบียบโลกและมาตรฐานสากล ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง
สหภาพยุโรป (EU) ได้ออกกฎหมายสำคัญ เช่น กฎหมายการจัดหมวดหมู่ธุรกิจสีเขียว (EU Taxonomy) และกฎหมายการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน (CSRD) ซึ่งกำหนดให้บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงและโอกาสที่การดำเนินธุรกิจจะส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การปรับตัวตามมาตรฐานเหล่านี้อาจมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในด้านต่าง ๆ เช่น วัสดุที่ผลิตจากแหล่งที่ยั่งยืนมักมีราคาสูงกว่า เนื่องจากกระบวนการผลิตต้องการมาตรฐานที่เข้มงวด เช่น วัตถุดิบออร์แกนิกหรือวัสดุรีไซเคิลคุณภาพสูง แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจที่ต้องการเข้าถึงตลาดโลก
5. สร้างความได้เปรียบ สู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมแห่งความยั่งยืน
การนำแนวคิดความยั่งยืน (ESG : Environmental, Social, Governance) มาใช้ช่วยให้ธุรกิจ "โดดเด่นและแตกต่าง" ในตลาด พร้อมสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและนักลงทุน ส่งผลให้ธุรกิจมีความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาด
ยิ่งไปกว่านั้น การก้าวสู่ความยั่งยืนก่อนใครยังทำให้ธุรกิจกลายเป็น "ผู้นำการเปลี่ยนแปลง" ที่กำหนดมาตรฐานใหม่และการพัฒนานวัตกรรมที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เทคโนโลยีสีเขียวหรือวัสดุที่ยั่งยืน ไม่เพียงลดการใช้ทรัพยากร แต่ยังปลดล็อกศักยภาพให้คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ และขับเคลื่อนการเติบโตในระยะยาว
มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของบีโอไอ
Green Transformation หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อทิศทางการลงทุนในอนาคต บีโอไอผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมยกระดับสู่การเป็น Smart and Sustainable Industry มุ่งสู่การลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียน และพร้อมสนับสนุนให้เกิดการลงทุนสีเขียว ทั้งด้านพลังงาน การรีไซเคิล นำวัสดุใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่
.
ไม่เพียงเท่านั้น บีโอไอยังได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับการขอรับส่งเสริมการลงทุน ในบางธุรกิจ ให้ใช้เทคโนโลยีหรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กำหนดให้ใช้เทคโนโลยี CCUS ในธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง เช่น ปิโตรเคมี โรงแยกก๊าซธรรมชาติ การกำหนดให้ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ หรือสารที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยในกิจการห้องเย็น และการกำหนดให้ Smart Environment เป็นเงื่อนไขในการส่งเสริมกิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ รวมไปถึงการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีบทบาทในการร่วมมือกับภาคธุรกิจเพื่อพัฒนาชุมชน เช่น การปลูกข้าวลดก๊าซมีเทน การพัฒนาระบบการคัดแยกขยะในชุมชน
.
แม้ว่าการลงทุนด้านความยั่งยืนจะมาพร้อมกับต้นทุนที่สูงในระยะ แต่ผลตอบแทนที่ได้นั้นมากกว่าตัวเลขทางการเงิน ทั้งความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค การสนับสนุนจากลูกค้าและนักลงทุน โอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และความได้เปรียบในการแข่งขันระดับโลก
.
คำถามสำคัญจึงไม่ใช่ "ทำไมต้องจ่ายแพง" แต่เป็น "ธุรกิจของคุณจะก้าวทันโลกได้อย่างไรในอนาคต หากไม่เริ่มลงทุนด้านความยั่งยืนตั้งแต่วันนี้"