บีโอไอสนับสนุนเทคโนโลยีสร้างสรรค์ เพื่อสร้าง “High Value Medical”
ล้ำไปอีกขั้นในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกมุมของชีวิต AI หรือ Artificial Intelligence กำลังเปลี่ยนวิถีชีวิต รูปแบบการทำงานไปจนถึงการใช้บริการด้านต่าง ๆ เรากำลังพูดถึง “ปัญญาประดิษฐ์” ที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกยิ่งขึ้น เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วจนต้องอัปเดตข่าวสารแบบวันต่อวัน โดยเฉพาะ AI ในแวดวงสุขภาพและการแพทย์ AI ที่ก้าวเข้ามาเป็นผู้ช่วยด้านเฮลท์แคร์ และกำลังสร้างอนาคตที่ยิ่งใหญ่ในแบบที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
รายงานของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) คาดว่าในปี 2568 ตลาด AI ทั่วโลกจะมีรายได้สูงถึง 6.02 ล้านล้านบาท โดย “อุตสาหกรรมสุขภาพ” เป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ใช้ประโยชน์จาก AI
ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในเรื่องการใช้ AI ทางการแพทย์ และเป็นผู้นำเทรนด์ในภูมิภาค โดยผสมผสานระหว่าง การใช้ AI เข้ากับเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญด้านการดูแลสุขภาพ และการรักษาผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ AI ในแอปพลิเคชันด้านสุขภาพและการแพทย์ไปจนถึงการใช้ AI เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคและการสนับสนุนการตัดสินใจของแพทย์ ทำให้การรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้การใช้ AI ยังช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ และช่วยให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างทั่วถึง ตลอดจนสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้มากขึ้นกว่าเดิม
นวัตกรรมที่ตอบโจทย์วงการสุขภาพ
การใช้ AI วินิจฉัยโรค
ด้วยเหตุที่สามารถเรียนรู้จากข้อมูลที่มีอยู่ร่วมกับอาศัยความเร็วในการประมวลผลเพื่อช่วยวินิจฉัยโรคที่มีความซับซ้อนและมีความยากในการวินิจฉัย AI จึงทำให้การวินิจฉัยโรคเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น โดยเราจะพบว่ามีการนำ AI มาใช้ทางการแพทย์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การนำ AI มาวิเคราะห์ภาพ X-ray, MRI, และ CT scan
การนำ AI มาช่วยวางแผนการรักษา
การนำข้อมูลประวัติการรักษามาวิเคราะห์ ด้วย AI จะช่วยวางแผนการรักษาให้กับผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างเหมาะสม(Personalized Medicine) โดยข้อมูลที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์มีตั้งแต่ประวัติการรักษา ข้อมูลยีน การบริโภคอาหาร หรือแม้แต่ระดับความเครียด
- AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
เราสามารถเห็นได้จากหลายตัวอย่างที่กำลังใช้งานกันอยู่ทั่วไป เช่น การใช้ AI ในห้องผ่าตัดโดยเครื่อง Biplane Angiography ซึ่งเป็นเครื่องที่มีฟังก์ชันการทำงานด้านต่างๆ ที่มีความแม่นยำ และช่วยแพทย์ให้สามารถวินิจฉัยรอยโรคและให้การรักษาได้ดี รวมถึงช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับคนไข้ เพราะสามารถลดการสัมผัสรังสีอีกด้วย
- การใช้ AI ในการป้องกันโรค
ด้วยความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพและไลฟ์สไตล์ของผู้ป่วยแล้ว AI ยังช่วยระบุปัจจัยเสี่ยงและแนะนำแนวทางในการป้องกันโรคที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยได้
- การนำ AI มาช่วยในการวิจัยและพัฒนายา
ความสามารถในการประมวลผลข้อมูลในปริมาณมากของ AI ช่วยให้การค้นคว้าและพัฒนายาใหม่ ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการเร่งพัฒนาหาแนวทางลำเลียงยาไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายให้รวดเร็วขึ้นและได้ผลมากกว่าเดิม
โอกาสและความท้าทาย
ประเทศไทยมีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวและการแพทย์ ซึ่งสามารถยกระดับได้ด้วยการสร้างเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งนี่อาจเป็นโอกาสในการเปลี่ยนจากการนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์ มาเป็นการส่งออกหรือนำเสนอบริการที่ใช้ความสามารถทางการแพทย์และเทคโนโลยี เพื่อให้ไทยขึ้นเป็นผู้นำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากความสามารถในการใช้ AI ทางการแพทย์ เพื่อเตรียมพร้อมการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญของการพัฒนาโซลูชันการแพทย์
การนำ AI มาใช้ทางการแพทย์ไม่ได้เป็นเพียงการปรับปรุงคุณภาพของการรักษาโรค แต่ยังเป็นโอกาสใหม่ ๆ ที่ประเทศไทยจะได้สร้างและส่งออกเทคโนโลยีสู่สากลโลก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า AI จะสามารถช่วยแก้ปัญหาทางการแพทย์ได้มากขึ้น แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องยังคงต้องจัดการกับประเด็นความท้าทายต่าง ๆ ในการนำเข้ามาใช้งานจริง เช่น ปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ความยากในการเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณภาพ รวมทั้งการอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เกี่ยวกับการใช้งาน AI เป็นต้น
ในอนาคต เมื่อเรานำ AI มาจัดการข้อมูลสุขภาพของประชากร ก็จะเป็นเครื่องมือที่ดีที่ทำให้ทราบถึงภาพรวมของสุขภาพประชาชนและช่วยให้เราวางแผนการพัฒนาสุขภาพของผู้คนได้ดียิ่งขึ้น
บีโอไอสนับสนุนเทคโนโลยีสร้างสรรค์ เพื่อสร้าง “High Value Medical” ให้ไทยแข่งขันได้ในระดับโลก อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเป็นหนึ่งเป้าหมายสำคัญที่บีโอไอพร้อมส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็น “Medical Hub” ของภูมิภาค