คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เตรียมประกาศ "มาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่" หลังจากผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแล้ว โดยจะอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป
สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ที่เตรียมประกาศ ประกอบไปด้วย การปรับปรุงมาตรการเดิม การขยายระยะเวลา และการออกมาตรการใหม่ รวมทั้งสิ้น 9 มาตรการด้วยกัน ประกอบด้วย
1. มาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
กำหนดประเภทกิจการที่เปิดให้การส่งเสริมใหม่ ดังนี้
- กิจการเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า เช่น การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicles : FCEV) การผลิตอุปกรณ์สำหรับระบบเซลล์เชื้อเพลิง สถานีบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping Station)
- กิจการเกี่ยวกับพลังงานใหม่ เช่น การผลิตไฮโดรเจนจากน้ำโดยใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง เช่น Green Ammonia การผลิตไฮโดรเจนจากไฮโดรคาร์บอนหรือเชื้อเพลิงฟอสซิล และการผลิตพลังงานไฟฟ้า/ไอน้ำจากไฮโดรเจน
- กิจการผลิตอาหารแห่งอนาคต เช่น Novel Food, Organic Food, อาหารที่มี Health Claim
- กิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอวกาศ : เช่น การผลิตอุปกรณ์ซ่อมบำรุงและงานบริการภาคพื้น การผลิตชิ้นส่วน Mechanical / Electronic Parts สำหรับดาวเทียมหรือวัตถุอวกาศรูปแบบต่างๆ การพัฒนาระบบหรือซอฟต์แวร์เกี่ยวกับดาวเทียมและสถานีภาคพื้นดิน บริการนำส่งวัตถุสู่อวกาศ หรือกิจการผลิตระบบควบคุมภารกิจนำส่ง
โดยมาตรการกลุ่มแรกนี้ BOI ได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ ซึ่งมีความสำคัญต่อการผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยประเทศไทยต้องการอุตสาหกรรมประเภทนี้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่ม
ทั้งนี้บริษัทที่จะลงทุนสามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ 2 ช่องทางทั้งจากช่องทางปกติของ BOI และช่องทางการเจรจาโดยช่องทางการเจรจา และสามารถขอใช้เงินสนับสนุน จากเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขั้นได้ แต่อยู่บนเงื่อนไขว่าต้องสร้างผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประเทศไทยด้วย
2. มาตรการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน
โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นให้ทำกิจกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี ถ้าลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา ตั้งแต่ 1% ขั้นไป จะได้รับดารยกเว้นภาษีเงินได้ไม่จำกัดวงเงิน
พร้อมกันนี้ยังให้การส่งเสริมการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรทักษะสูง โดยส่งเสริมให้บริษัทเอกชนจัดตั้งสถาบันการศึกษา/ฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูง โดยให้สิทธิประโยชน์กับบริษัทแม่ผู้ลงทุน ซึ่งจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปีในวงเงิน 100% ของเงินลงทุนตั้งสถาบัน
3. มาตรการรักษาและขยายฐานการผลิตเดิม (Retention & Expansion Program)
เพื่อกระตุ้นให้บริษัทใหญ่รายเดิม ยังใช้ไทยเป็นฐานการผลิต และขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยจะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ เช่น ยกเว้นภาษีเงินได่ เพิ่มเติม 3 ปี รวมสูงสุดไม่เกิน 13 ปี หรือลดหย่อนภาษี 50% ได้ 5 ปี กำหนดเงื่อนไข ดังนี้
- เป็นผู้ได้รับส่งเสริมอยู่เดิมที่มีโครงการลงทุน ใน 15 ปีที่ผ่านมา (ปี 2551–2565) ไม่น้อยกว่า 3 โครงการ เงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) รวมไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท
- โครงการขยายมีเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท
4. มาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร (Relocation Program)
เพื่อกระตุ้นให้เกิดการย้ายฐานธุรกิจมาประเทศไทยแบบครบวงจร ทั้งโรงงานผลิต สำนักงานภูมิภาค และศูนย์ R&D หากอยู่ในกิจการผลิต และเป็น Regional Headquarter (IBC) รวมทั้งเป็น R&D Center ได้รับการยกเวินภาษีเงินได้เพิ่มเติม 5 ปี
5. มาตรการกระตุ้นการลงทุนในระยะฟื้นฟูเศรษฐกิจ
เพื่อกระตุ้นให้โครงการขนาดใหญ่มีการลงทุนจริงในช่วง 1 -2 ปีข้างหน้า จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% เป็นระยะเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ โดยต้อง มีการลงทุนจริง (ไม่รวมที่ดินและทุนหมุนเวียน) ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ภายใน 12 เดือน นับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม
6. มาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart & Sustainable Industry)
ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี สำหรับรายได้ของกิจการ ที่ดำเนินการอยู่เดิม เป็นสัดส่วน 50% หรือ 100% (ขึ้นกับเงื่อนไข) ของเงินลงทุนในการปรับปรุง
ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วน 50% หรือ 100% (ขึ้นกับเงื่อนไข) ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติ/หุ่นยนต์ หรือระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรม 4.0
7. มาตรการส่งเสริมการลงทุน SMEs
- ยกเว้นภาษีเงินได้ 3-8 ปี (แล้วแต่ประเภทกิจการ) โดยเพิ่ม Cap เป็น 200% และสามารถบวกเพิ่มสิทธิประโยชน์ตามมาตรการอื่นได้ พร้อมผ่อนปรนเงื่อนไข ดังนี้
- ลดเงินลงทุนขั้นต่ำจาก 1 ล้านบาท เหลือเพียง 5 แสนบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน)
- อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจดทะเบียน ไม่เกิน 4 ต่อ 1
- อนุญาตให้ใช้เครื่องจักรใช้แล้วในประเทศ ไม่เกิน 10 ล้านบาท และต้องลงทุนใหม่ในเครื่องจักรหลักไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่าเครื่องจักรในโครงการ
8. มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย
- เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 3 จังหวัด
- ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค (NEC, NeEC, CWEC, SEC) 16 จังหวัด
- เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 จังหวัด
- พื้นที่ชายแดนภาคใต้ 4 จังหวัด และ 4 อำเภอของสงขลา
- จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ 20 จังหวัด
- นิคมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม
- เขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
9. มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม
- กรณีที่ 1 (โครงการที่ไม่ได้ BOI) ต้องอยู่ในประเภทกิจการที่ส่งเสริม และ ไม่เคยได้รับส่งเสริม หรือเคยได้รับส่งเสริม แต่ไม่ได้รับสิทธิภาษีเงินได้หรือสิทธิได้สิ้นสุดแล้ว ได้รับยกเว้นภาษี 3 ปี วงเงิน 200% ของเงินสนับสนุน
- กรณีที่ 2 (โครงการ BOI) ต้องเป็นโครงการที่สิทธิภาษีเงินได้ยังไม่สิ้นสุด หรือโครงการใหม่ที่อยู่ในข่ายได้ยกเว้นภาษี จะได้รับการเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้ 200% ของเงินสนับสนุน
.............................