มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต

October 04,2022

มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต

ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 1/2564 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ด้านการวิจัยและพัฒนา หรือออกแบบทางวิศวกรรม รวมถึงด้านการยกระดับไปสู่มาตรฐานเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล

มาตรการนี้ใช้กับ
1. กิจการที่ดำเนินการอยู่แล้วไม่ว่าจะได้รับส่งเสริมหรือไม่ก็ตาม หากไม่ได้รับส่งเสริมต้องเป็นประเภทกิจการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนประกาศให้การส่งเสริมการลงทุนที่ใช้บังคับอยู่ในขณะยื่นขอรับการส่งเสริม
2. โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนอยู่เดิมสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมภายใต้มาตรการนี้ได้ เมื่อระยะเวลาการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นสิ้นสุดลงแล้ว หรือเป็นโครงการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลยกเว้นประเภทกิจการที่มีนโยบายเฉพาะที่จะไม่ให้สิทธิและประโยชน์ ตามที่สำนักงานกำหนด
เงื่อนไข
1. ต้องมีขนาดการลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนยกเว้นโครงการลงทุนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต้องมีขนาดลงทุนไม่น้อยกว่า 500,000 บาท โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน
2. ผู้ประกอบการที่จะเข้าข่ายเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต้องมีหลักเกณฑ์ดังนี้
2.1 เมื่อรวมกิจการทั้งหมดทั้งทได้รับการส่งเสริมและไม่ได้รับการส่งเสริมแล้ว ผู้ขอรับการส่งเสริมต้องมีสินทรัพย์ ถาวรสุทธิหรือขนาดลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่เกิน 200 ล้านบาท
2.2 ต้องมีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน
3. จะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565 และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม
1. มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ผู้ยื่นขอจะต้องเสนอแผนการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อการประหยัดพลังงาน การนำพลังงานทดแทนมาใช้ในกิจการ หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังนี้
1. จะต้องมีการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรไปสู่เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานลดลงตามสัดส่วนที่กำหนด
2. จะต้องมีการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อให้มีการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในกิจการในสัดส่วนตามที่กำหนด เมื่อเทียบกับการใช้พลังงานทั้งสิ้น
3. จะต้องมีการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณของเสีย น้ำเสียหรืออากาศตามเกณฑ์ที่กำหนด
สิทธิและประโยชน์
1. ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนในการปรับปรุง ทั้งนี้ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ของกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิม
3. ระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้นับจากวันที่มีรายได้ภายหลังได้รับบัตรส่งเสริม
ประเภทกิจการที่ไม่เข้าข่ายในการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการ ประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่
- ประเภท 5.8 กิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
- ประเภท 7.2 กิจการสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ
- ประเภท 7.7 กิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุน (TRADE AND INVESTMENT SUPPORT OFFICE : TISO)
- ประเภท 7.9.2.6 กิจการ CO-WORKING SPACE
- ประเภท 7.34 กิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (INTERNATIONAL BUSINESS CENTER : IBC)
- ประเภท 7.37 กิจการศูนย์จัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบ ระหว่างประเทศ (INTERNATIONAL PROCUREMENT OFFICE : IPO)

2. มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร
ผู้ยื่นขอจะต้องเสนอแผนการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น การนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิตที่มีอยู่เดิม เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เป็นต้น
สิทธิและประโยชน์
1. ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
2. ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนในการปรับปรุง ทั้งนี้ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ของกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิม
3. ทั้งนี้ กรณีการใช้เครี่องจักรที่มีการเชื่อมโยงหรือสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรระบบอัตโนมัติในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่าเครื่องจักรที่มีการปรับเปลี่ยน ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 100 ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนในการปรับปรุง
4. ระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้นับจากวันที่มีรายได้ภายหลังได้รับบัตรส่งเสริม
ประเภทกิจการที่ไม่เข้าข่ายในการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการ ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ได้แก่
- ประเภท 4.6 กิจการผลิตรถยนต์ทั่วไป
- ประเภท 4.12 กิจการผลิตรถจักรยานยนต์ (ยกเว้นที่มีความจุกระบอกสูบต่ำกว่า 248 ซีซี)
- ประภท 5.8 กิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
- ประเภท 7.2 กิจการสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ
- ประเภท 7.7 กิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Support Office: TISO)
- ประเภท 7.34 กิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center: IBC)
- ประเภท 7.37 กิจการศูนย์จัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบ ระหว่างประเทศ (INTERNATIONAL PROCUREMENT OFFICE : IPO)
- ประเภท 7.9.2.6 กิจการ CO-WORKING SPACE

3. มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการวิจัยและพัฒนา หรือออกแบบทางวิศวกรรม
ผู้ยื่นขอจะต้องเสนอแผนการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาหรือออกแบบทางวิศวกรรมตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยจะต้องมีการลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาหรือออกแบบทางวิศวกรรม ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของยอดขายรวมใน 3 ปีแรก นับจากวันที่ยื่นขอรับการส่งเสริม ในกรณีเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต้องลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาหรือออกแบบทางวิศวกรรม ไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5 ของยอดขายรวมใน 3 ปีแรก นับจากวันที่ยื่นขอรับการส่งเสริม
สิทธิและประโยชน์
1. ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนในการปรับปรุง ทั้งนี้ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ของกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิม
3. ระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้นับจากวันที่มีรายได้ภายหลังได้รับบัตรส่งเสริม
ประเภทกิจการที่ไม่เข้าข่ายในการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการ วิจัยพัฒนาและออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ได้แก่

- ประเภท 5.8 กิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
- ประเภท 7.2 กิจการสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ
- ประเภท 7.7 กิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุน (TRADE AND INVESTMENT SUPPORT OFFICE : TISO)
- ประเภท 7.9.2.6 กิจการ CO-WORKING SPACE
- ประเภท 7.34 กิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (INTERNATIONAL BUSINESS CENTER : IBC)
- ประเภท 7.37 กิจการศูนย์จัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบ ระหว่างประเทศ (INTERNATIONAL PROCUREMENT OFFICE : IPO)

4. มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการยกระดับไปสู่มาตรฐานเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล
ผู้ยื่นขอจะต้องเสนอแผนการลงทุนเพื่อการยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่มาตรฐานระดับสากล เช่น มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agriculture Practices: GAP) มาตรฐานการรับรองป่าไม้ตามแนวทางขององค์การพิทักษ์ป่าไม้ (Forest Stewardship Council: FSC) มาตรฐาน PEFCs (Program for the Endorsement of Forest Certification Scheme) มาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร (ISO 22000) หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการป่าไม้แบบยั่งยืน (ISO 14061 Sustainable Forest Management System (SFM)) หรือ มาตรฐานสากลอื่นที่เทียบเท่า และจะต้องมีการลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายดำเนินการตามแผนดังกล่าว โดยต้องได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าวภายใน 3 ปี นับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม
สิทธิและประโยชน์
1. ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนในการปรับปรุง ทั้งนี้ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ของกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิม
3. ระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้นับจากวันที่มีรายได้ภายหลังได้รับบัตรส่งเสริม

5. มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
ผู้ยื่นขอจะต้องเสนอแผนการลงทุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ยกระดับกระบวนการทำงานตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือการให้บริการ ในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังนี้
1. การนำซอฟต์แวร์โปรแกรมหรือระบบสารสนเทศมาใช้ในระดับที่มีการเชื่อมโยงภายในองค์กรอย่างเป็นระบบ (INTEGRATED) และเชื่อมโยงภายนอกองค์กร (CONNECTED) บางส่วน หรือมีการเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอก โดยต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างน้อย 3 ฟังก์ชั่นมาใช้บริหารจัดการทรัพยากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือการให้บริการ
2. การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (ARTIFICIAL INTELLIGENCE หรือ AI) MACHINE LEARNING การนำ BIG DATA มาใช้หรือการวิเคราะห์ข้อมูล (DATA ANALYTICS)
3. การนำซอฟต์แวร์โปรแกรมหรือระบบสารสนเทศมาใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง ระบบของบริษัทกับระบบออนไลน์ของภาครัฐ เช่น เชื่อมโยงกับระบบ NATIONAL E-PAYMENT เป็นต้น
สิทธิและประโยชน์
1. ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนในการปรับปรุง ทั้งนี้ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ของกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิม
2. ระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้นับจากวันที่มีรายได้ภายหลังได้รับบัตรส่งเสริม

- ตรวจสอบประเภทกิจการที่ได้รับการส่งเสริม: คู่มือการขอรับการส่งเสริมการลงทุน
- ยื่นขอรับการส่งเสริมในรูปแบบเอกสาร ดาวน์โหลดแบบฟอร์มที่นี่
- ตรวจสอบติดตามสถานภาพเอกสาร: ระบบตรวจสอบสถานภาพเอกสารทาง INTERNET (Doc Tracking)
- อ่านเอกสารเพิ่มเติม: ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 1/2564 ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 4/2564 และประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ ป.1/2564

ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2564

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง